ชีวิตที่แสนงดงามและทรงคุณค่า!ของแม่ชีไทยในพระพุทธศาสนา ตอนที่๑
ประวัติศาสตร์ไทยควรได้รับการจารึกไว้ว่า มีสตรีผู้หนึ่งที่ได้มุ่งมั่นดำเนินรอยตามแนวทางสายนี้ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาปนาวัดพระธรรมกายด้วยสองมือของท่านเอง สตรีท่านนั้นคือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง http://winne.ws/n21938
บทความวิจัยเชิงวิชาการ เขียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดย เพชรรัตน์ โล้วิชากรติกุลและคณะ ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือ Women and Asian Religions
ในสังคมไทยมีคำกล่าวเปรียบเทียบผู้หญิงว่าเป็นเสมือน“ช้างเท้าหลัง” ที่ต้องเดินตาม และคอยสนับสนุนหน้าที่การงานของสามีซึ่งเปรียบประดุจช้างเท้าหน้า ด้วยรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากระบบทุนนิยมได้ก้าวเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองที่เจริญแล้ว ได้ทำให้ความคาดหวังและสิ่งที่ใฝ่ฝันของสตรีไทยได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายเช่นกัน เนื่องด้วยศักยภาพและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะประกอบอาชีพเป็นหลักให้กับตนเอง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระหน้าที่ของผู้หญิงที่มีต่อครอบครัวและงานภายในบ้าน สิ่งเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงให้มีความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะเดียวกัน สังคมชาวพุทธเถรวาทของคนไทยก็ไม่ยอมรับสถานภาพของภิกขุณีในพระพุทธศาสนาดั่งเช่นพระภิกษุสงฆ์ เพียงแต่ยินยอมอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถบวชเป็นแม่ชีรักษาศีล ๘ ได้เท่านั้น
ประวัติศาสตร์ไทยควรได้รับการจารึกไว้ว่า มีสตรีผู้หนึ่งที่ได้มุ่งมั่นดำเนินรอยตามแนวทางสายนี้ และเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาปนาวัดพระธรรมกายด้วยสองมือของท่านเอง สตรีท่านนั้นคือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “คุณยายอาจารย์จันทร์” (ปีพ.ศ. ๒๔๕๒ – ๒๕๔๓) ท่านมีชีวิตที่งดงามบริสุทธิ์ช่วงเวลาชีวิตของท่านอยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงสถานภาพและบทบาทของสตรีไทย ในขณะที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ คุณยายอาจารย์จันทร์เกิดในครอบครัวเกษตรกรมีฐานะปานกลาง ท่านไม่ได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับเด็กผู้หญิงในสมัยนั้น คุณยายอาจารย์ยังปฏิเสธที่จะรับมรดกจากครอบครัวเพื่อที่จะเข้ามาทำงานเป็นคนรับใช้ในครอบครัวคหบดีแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ท่านมีความมุ่งมั่นตั้งใจกอปรกับการฝึกฝนสมาธิอย่างจริงจังเพียงเพื่อปรารถนาที่จะตามหาบิดาที่ล่วงลับไปแล้วและอุทิศบุญกุศลให้กับบิดาของท่านให้จงได้
ภายในห้วงเวลา ๒๐ ปี ลูกศิษย์ของคุณยายอาจารย์จากทั่วทุกมุมโลกได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ปัจจุบันนี้ (อ้างอิงตามแหล่งข้อมูลในปี ๒๕๕๕) มีวัดสาขา ศูนย์สาขาและศูนย์ฝึกอบรมทั่วประเทศไทยกว่า ๗๐๐ แห่ง ที่ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมธรรมทายาทเพื่อเตรียมตัวอุปสมบทเป็นพระภิกษุในโครงการบวชทั่วไทย และมี ๑๖๐ ศูนย์สาขาในต่างประเทศทั่วโลก
คุณยายอาจารย์มีมโนปณิธานที่เด่นชัด โดยมุ่งเน้นในเรื่องการฝึกฝนอบรมตนเอง เพื่อพัฒนาจิตใจและปลูกฝังคุณธรรมให้งอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นการกำจัดกิเลสอาสวะทั้งกายและใจ โดยมีเยาวชนกว่า ๕๐,๐๐๐ คน เข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณธรรม ละเว้นยาเสพติด ของมึนเมา สุรา และการพนัน และในขณะเดียวกันเยาวชนเหล่านี้ได้อุทิศตน มีจิตอาสาช่วยงานสาธารณประโยชน์ และกิจกรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาอย่างเนืองนิตย์ นอกจากนี้ ยังมีพระภิกษุกว่า ๓,๐๐๐ รูปและเจ้าหน้าที่อุบาสก อุบาสิกา กว่า ๑,๖๐๐ คนผู้อุทิศตนทำงานให้กับพระพุทธศาสนา ณ วัดพระธรรมกาย ในช่วงเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีสาธุชนกว่า ๕๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ คน มาร่วมปฏิบัติธรรมด้วยความสงบสำรวม ก่อให้เกิดศรัทธาที่มั่นคงต่อศาสนาพุทธในประเทศไทย
ชีวประวัติคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงชีวิตในวัยเยาว์
คุณยายอาจารย์เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๕๒ เป็นบุตรคนที่ ๕ ในครอบครัวชนชั้นกลาง อาชีพเกษตรกรรมของนายพลอยและนางพัน ขนนกยูง ตั้งครอบครัวอยู่ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ภาคกลางของประเทศไทย ชื่อจริงของคุณยายอาจารย์คือ “จันทร์”หมายถึง ดวงจันทร์ และนามสกุล “ขนนกยูง” คุณยายอาจารย์ไม่ได้เรียนหนังสือ เฉกเช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงไทยในสมัยก่อนที่ไม่นิยมให้เข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียน ด้วยค่านิยมไทยแบบดั้งเดิมที่ยกย่องให้ความสำคัญกับบุรุษมากกว่าสตรีเพศ ดังนั้นผู้ชายจึงมีบทบาทเป็นผู้นำในสังคมและเป็นผู้นำในทุก ๆ ด้านของสังคมไทย ผู้หญิงไทยจึงทำหน้าที่ของผู้ตามที่ดี นอกจากนี้โรงเรียนในสมัยก่อนมักจะตั้งอยู่ในบริเวณวัดซึ่งเป็นอารามที่พักของพระสงฆ์ เด็กผู้หญิงจึงมักจะอยู่บ้าน ดูแลสมาชิกในครอบครัว และทำงานบ้านเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ คุณยายอาจารย์จึงไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ คุณยายอาจารย์มีหน้าที่ช่วยบิดามารดาทำงานบ้านและทำนา วิถีชีวิตของชาวนาได้หล่อหลอมให้คุณยายอาจารย์เป็นคนมีความรับผิดชอบ ขยัน และมีความอดทน คุณยายอาจารย์ตื่นนอนประมาณตี ๓-๔ เป็นประจำทุกวัน หลังจากตื่นนอนแล้วคุณยายอาจารย์จะมุ่งตรงไปที่ทุ่งนาทันทีก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้นในยามรุ่งอรุณ เพื่อที่คุณยายอาจารย์จะได้ไถพรวนดิน ตัดหญ้า กำจัดวัชพืชต่าง ๆ และปลูกข้าว จนกระทั่งได้เก็บเกี่ยวในที่สุด วัฏจักรชีวิตของคุณยายอาจารย์เป็นเช่นนี้ปีแล้วปีเล่า ด้วยความเอาใจใส่อย่างดีต่อนาข้าวทำให้ทุ่งนาของคุณยายอาจารย์ไม่มีแม้แต่หญ้าสักต้นเดียว ด้วยเหตุที่คุณยายอาจารย์มีความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่งยวดทำให้ฐานะของครอบครัวท่านอยู่ในเกณฑ์ดีไม่มีหนี้สินใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างจากครอบครัวชาวนาอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้นคุณยายอาจารย์รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อครอบครัวของท่านยิ่งนักโดยเฉพาะบิดามารดาของท่าน เพราะคุณยายอาจารย์ได้รับความรักความอบอุ่นอย่างเต็มเปี่ยมจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว
คุณยายอาจารย์เป็นคนที่ตรงต่อเวลาอย่างมาก ด้วยเหตุที่ท่านเริ่มงานในท้องนาตั้งแต่เวลาเช้ามืดทุกวัน จนท่านได้พักรับประทานอาหารกลางวันเวลา ๑๑.๐๐ น. เนื่องจากจะมีสัญญาณกลองเพลดังขึ้น ทำให้ทราบว่าเป็นเวลาถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นห้วงเวลาที่ทุกคนจะหยุดทำงาน โคและกระบือก็ได้หยุดพักผ่อนเช่นกัน คุณยายอาจารย์จึงได้เริ่มงานอีกครั้งในช่วงบ่าย ท่านทำงานเรื่อยไปจนกระทั่งกลับบ้านในเวลาเย็นเมื่อพระอาทิตย์ล่วงลับไปแล้ว ด้วยความวิริยะอุตสาหะของคุณยายอาจารย์ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นขนานนามท่านว่า “จันทร์ แข้งเหล็ก”
ทุกเช้าและเย็น คุณยายอาจารย์มักจะมองดูดวงอาทิตย์ดวงกลมโตสุกใสสว่าง โดยคุณยายอาจารย์มีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งท่านคงมีโอกาสได้ไปแตะปลายขอบฟ้าแสนไกลโพ้น ท่านมีความสุขทุกคราที่ได้มองดูดวงอาทิตย์ ส่องแสงประกายเจิดจรัสบนท้องนภา และท่านมักจะถามตัวเองเสมอว่า “เราเกิดมาทำไม และอะไรคือเป้าหมายอันสูงสุดในชีวิตคนเรา” ถึงแม้ในห้วงเวลานั้น คุณยายอาจารย์มิเคยได้รับคำตอบแต่อย่างใด
เมื่อคุณยายอาจารย์ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ท่านไม่เคยสนใจเรื่องการครองเรือน ท่านยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเด็กสาว ๆ ในสมัยนั้นอย่างมาก โดยเฉพาะขนบธรรมเนียมประเพณีไทยสมัยก่อนที่สตรีนิยมแต่งงานมีครอบครัวก่อนอายุ ๒๐ ปี แต่คุณยายอาจารย์กลับมีความสุขที่ได้อยู่ในครอบครัวอันอบอุ่นของท่านและช่วยทำนา
จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต
ถึงแม้ว่าบิดาของคุณยายอาจารย์จะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี รักครอบครัว แต่เนื่องจากท่านติดสุราอย่างหนัก วันหนึ่งขณะที่คุณพ่อกำลังเมาสุราและนอนหลับอยู่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งอยู่ชั้นล่างของตัวบ้าน ท่านได้ส่งเสียงดังบ่น พรึมพรำตามประสาคนเมา คุณแม่ของคุณยายอาจารย์ซึ่งอยู่บนตัวบ้านได้ยินเสียงคุณพ่อ ท่านรู้สึกรำคาญจึงตะโกนลงมาว่า “ไอ้นกกระจอกมาอาศัยรังเขาอยู่” ด้วยเหตุที่ฐานะทางการเงินของครอบครัวคุณแม่ดีกว่าของคุณพ่อ เมื่อคุณพ่อได้ยินเสียงของคุณแม่พูดเช่นนี้ ท่านรู้สึกโกรธคุณแม่มากและถามลูก ๆ ว่ามีใครได้ยินคุณแม่ด่าว่าพ่อไหม ลูกทุกคนนิ่งเงียบสนิทไม่มีใครเอ่ยวาจาใด ๆ ทั้งสิ้น คุณยายอาจารย์ท่านไม่ต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน ท่านจึงรีบพูดขึ้นมาว่า “แม่ไม่ได้ว่าพ่อเลยค่ะ” ด้วยความโกรธที่สุมรุมอยู่ คุณพ่อจึงเอ่ยแช่งขอให้คุณยายอาจารย์หูหนวก ๕๐๐ ชาติ
ด้วยความเชื่อของคนไทยที่กล่าวว่าคำพูดของบิดามารดาศักดิ์สิทธิ์ และสามารถดลบันดาลให้เป็นจริงได้ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่ดีหรือร้ายก็ตาม ถ้าพ่อแม่อวยชัยให้พรลูกหลาน พูดแต่สิ่งดี ๆ ให้ ลูกหลานก็จะประสบความสุข ความสำเร็จตามคำอวยพรนั้น ๆ ในทางตรงกันข้ามถ้าพ่อแม่สาปแช่ง หรือพูดในสิ่งที่ไม่ดีให้กับลูกหลาน พวกเขาก็จะได้รับผลตามคำพูดของพ่อแม่เช่นกัน ดังนั้น คุณยายอาจารย์จึงรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ท่านตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าก่อนที่บิดาจะเสียชีวิต ท่านจะมากราบขอขมาลาโทษคุณพ่อให้ได้ เพื่อแสดงเจตนาอันบริสุทธิ์ของท่านที่มีต่อคุณพ่อ และจะได้ไม่อาฆาตแค้นเคืองข้ามภพข้ามชาติอีกต่อไป เป็นการขออโหสิกรรมเพื่อให้กรรมนั้นได้สิ้นสุดต่อกันนั่นเอง
แต่โชคช่างไม่เข้าข้างคุณยายอาจารย์แม้แต่น้อย ในวันที่คุณพ่อของคุณยายอาจารย์เสียชีวิตนั้น คุณยายอาจารย์ยังคงทำงานอยู่ที่ทุ่งนา ท่านจึงไม่มีโอกาสได้มากราบขอขมา ขออโหสิกรรมต่อบิดาของท่าน สิ่งนี้ได้สร้างความกังวลใจให้คุณยายอาจารย์ตลอดเวลาเนื่องจากความตั้งใจของท่านไม่บรรลุผล ด้วยความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดของคนไทย ซึ่งในขณะนั้น คุณยายอาจารย์มีอายุเพียง ๑๒ ขวบเท่านั้น ท่านกลัวว่าท่านจะต้องเกิดมาเป็นคนหูหนวก ๕๐๐ ชาติตามคำสาปแช่งของคุณพ่อ
หลังจากบิดาของคุณยายอาจารย์สิ้นไปแล้ว คุณยายอาจารย์ยังคงช่วยครอบครัวทำนาสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นจนกระทั่งท่านอายุได้ ๑๘ ปี ท่านทราบข่าวว่ามีครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่สามารถสอนให้คนไปเห็นชีวิตหลังความตายได้ นั่นคือ ไปนรก สวรรค์ และพระนิพพานได้ มหาปูชนียาจารย์ท่านนั้นคือ พระมงคลเทพมุนี (ปี พ.ศ. ๒๔๒๘ – ๒๕๐๒) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น ด้วยเหตุนี้ คุณยายอาจารย์จึงตั้งความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมาศึกษาธรรมะกับหลวงปู่วัดปากน้ำให้ได้ เพื่อที่ท่านจะได้ตามไปหาบิดาของท่าน แต่กระนั้นก็ตาม คุณยายอาจารย์ไม่ทราบว่าวัดปากน้ำอยู่ ณ แห่งหนใด
จนกระทั่งในปี ๒๔๗๘ ขณะที่คุณยายอาจารย์อายุได้ ๒๖ ปี ท่านได้ตัดสินใจเด็ดขาดเดินทางออกจากบ้านนครชัยศรีเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ท่านได้จัดสรรแบ่งมรดกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้เรียบร้อยโดยที่ตัวท่านเองไม่รับสมบัติใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านยอมตัดใจจากครอบครัวอันเป็นที่รัก แม้ว่าทุกคนในบ้านจะเศร้าโศกเสียใจปานใดก็ตาม เพื่อมาแสวงหาธรรมะตามลำพังเพียงคนเดียวตามความมุ่งมาดปรารถนาของท่าน ช่างเป็นการกระทำที่องอาจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนักสำหรับผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ท่านมีเงินเพียง ๒ บาทติดตัวเข้ากรุงเทพฯ โดยมาขออาศัยอยู่กับญาติของท่าน หลังจากนั้น คุณยายอาจารย์ได้ทราบว่าที่บ้านคหบดีท่านหนึ่ง คือ “คุณนายเลี้ยบ” เป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์สำคัญคนหนึ่งของวัดปากน้ำ จะมีคุณยายอาจารย์ทองสุข สำแดงปั้น หนึ่งในลูกศิษย์ของหลวงปู่วัดปากน้ำมาสอนสมาธิเป็นประจำที่บ้านหลังนี้ คุณยายอาจารย์จึงได้ยอมตนเป็นคนรับใช้ ท่านตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน และมีความรับผิดชอบจนกระทั่งคุณนายเลี้ยบรักใคร่และไว้วางใจในตัวคุณยายอาจารย์เป็นอย่างมาก และมอบกุญแจหีบสมบัติของตระกูลให้คุณยายอาจารย์เป็นผู้ดูแล
ในที่สุดความปรารถนาของคุณยายอาจารย์ก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อคุณยายอาจารย์ทองสุขทราบว่าคุณยายอาจารย์มีความตั้งใจที่จะฝึกสมาธิเพื่อตามหาบิดาในสัมปรายภพ คุณยายอาจารย์ทองสุขจึงเอ่ยปากขออนุญาตคุณนายเลี้ยบเพื่อให้คุณยายอาจารย์ได้มาเรียนการทำสมาธิด้วย หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจงานบ้านในแต่ละวัน คุณยายอาจารย์ได้จัดแบ่งเวลาให้กับการฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ท่านขึ้นไปนั่งสมาธิอย่างเงียบ ๆ คนเดียวบนชั้นดาดฟ้าของบ้านยามค่ำคืนอย่างมีความสุขเป็นเวลาถึง ๒ ปี จนกระทั่งท่านได้เข้าถึงประสบการณ์ความสุขภายในและเข้าถึง “วิชชาธรรมกาย” ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความสงบสุข จิตใจและกายแห่งการตรัสรู้ธรรมภายในได้รวมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ดวงปัญญาที่สว่างไสวได้กำจัดซึ่งกิเลสอาสวะ อันประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง ความรู้ทางธรรมนี้ช่างแตกต่างจากความรู้ทางโลกที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ยิ่งนัก เพราะความรู้ทางธรรมได้ช่วยขัดเกลาจิตใจและพัฒนาจิตวิญญาณของมวลมนุษยชาติอีกด้วย ด้วยอำนาจของวิชชาธรรมกายและคำแนะนำของคุณยายอาจารย์ทองสุข ทำให้คุณยายอาจารย์สามารถไปช่วยบิดาจากการตกนรกได้ เนื่องจากท่านดื่มสุราทุกวันในขณะที่มีชีวิตอยู่ ในที่สุดคุณยายอาจารย์ได้กล่าวคำขมาต่อคุณพ่อของท่านได้สำเร็จสมดังเจตนาของท่าน
แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดย ดร.เพชรรัตน์ โล้วิชากรติกุล