พุทธทัศน์ว่าด้วย..กายานุปัสสนา ?

การพิจารณากายในกายนั้นพระพุทธองค์ทรงให้พิจารณาอย่างไร ทำไมถึงให้พิจารณาแบบนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่กำลังสนใจเรื่องสติปัฏฐาน ๔ http://winne.ws/n24737

1.9 พัน ผู้เข้าชม
พุทธทัศน์ว่าด้วย..กายานุปัสสนา ?

บทความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กNaga King ได้หยิบยก "หัวข้อกายานุปัสนา การพิจารณา กายในกาย" ในหมวดต่าง ๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมจะได้เลือกลองปฏิบัติเองเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงธรรม

พุทธทัศน์ว่าด้วย..กายานุปัสสนา ?

@ ในมหาสติปัฏฐานสูตรมีหลักการพิจารณาอยู่ ๔ ประการก็คือ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต และพิจารณาธรรม ซึ่งหลายคนสงสัยและไม่ค่อยที่จะเข้าใจว่าการพิจารณาตามหลัก ๔ ประการนั้นเอาเข้าจริงๆแล้วทำอย่างไรกัน 

เอาล่ะในช่วงเข้าพรรษานี้ผมจะนำเอากรอบความคิดหรือความจริงเกี่ยวกับคำสอนเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรนี้มาอธิบาย “แบบง่ายๆ”เพื่อให้บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมได้มีความรู้และเข้าใจกันง่ายๆหน่อย 

เพราะปัจจุบันนี้มีหลายสำนักเกิดอาการมั่วๆเอาชื่อพระสูตรนี้ไปใช้อ้างอิงแต่ก็ไม่ได้สอนกันตามเนื้อหาและหลักการของพระสูตรนี้เลย หลายคนถามมาผมก็เลยจะอธิบายให้เกิดความเข้าใจกันสักหน่อย เอาตามที่รู้มานะครับ ความรู้ที่มาจาก “ตัวแบบ คือ พระไตรปิฎก”ไม่ได้เอามาจากไหน เพราะหากเอามาจากไหนเมื่อไหร่ผมก็คงจะมั่วๆแบบหลายสำนักนั่นแหละไม่แตกต่างกัน

@ กาย ...ในพระไตรปิฎก.. คืออะไร ?

สำหรับคำว่ากายโดยทั่วๆไปหมายถึงตัว “ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ”ที่รวมกันเป็น รูปกับนามหรือกายกับจิตนั่นแหละซึ่งในใจความคำสอนของพระพุทธศาสนาสอนว่าให้พิจารณาขันธ์ ๕ นี้ให้เป็นอนัตตา คือไม่ใช่ของเรา หรือให้พิจารณาเป็น สุญญัง คือสิ่งว่างเปล่าไม่ควรยึดมั่น หรือทำการละวางในการยึดมั่นเพราะการยึดมั่นในขันธ์ ๕ นี้เท่ากับเป็นการสร้างตัวตนขึ้นมา เมื่อสร้างตัวตนขึ้นมาก็จะทำให้เกิดความทุกข์เพราะความยึดมั่นนั้น 

@ กาย ...ในพระสูตรนี้.. คืออะไร ?

ส่วนกายในพระสูตรนี้ท่านให้คำอธิบายเพื่อนำมาปรับใช้ในการพิจารณาให้เห็น (๑) ความจริง (๒) ความเท็จ ที่แทรกอยู่ในกายนี้ ดังนั้นท่านจะยึด “การพิจารณา” เป็นหลักโดยไม่ได้อธิบายแบบกายหรือขันธ์ทั่วๆไป โดยในพระสูตรนี้ท่านอธิบายคำว่ากายเพื่อการพิจารณาไว้มากถึง ๖ หมวด คือ 

(๑)  หมวดลมหายใจเข้าออก 

ซึ่งหมวดนี้ท่านให้พิจารณาลมหายใจเข้าออกว่า  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง (เรือนว่าง  หมายถึงที่ที่สงัด  คือเสนาสนะ  ๗  อย่าง  เว้นป่า และโคนไม้  ได้แก่  (๑)  ภูเขา (๒)   ซอกเขา  (๓)   ถ้ำ  (๔)  ป่าช้า  (๕)  ป่าชัฏ  (๖)  ที่แจ้ง  (๗)  ลอมฟาง) ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์(หมายถึงนั่งขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า (ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๗๔/๓๐๒.)มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ตั้งสติรู้ชัดในลมหายใจเข้าออกว่าหายใจเข้าออกสั้นหรือยาวก็รู้

(๒)  หมวดอิริยาบถ 

หมวดนี้เป็นหมวดพิจารณากายในมิติของอิริยาบถในขณะที่ ยืน เดิน นั่งนอนก็มีสติรู้อยู่ตลอดเวลาว่าขณะนี้เรากำลังยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ (ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๗๔/๓๐๓. )

(๓)  หมวดสัมปชัญญะ 

เป็นหมวดที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้มีการเอาสติไปกำหนดพิจารณากายในลักษณะของอิริยาบถคือการเคลื่อนไหว เช่น การก้าวไป ถอยกลับ การแลดู  การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก   การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ(ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๗๔/๓๐๔. ) 

(๔)  หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล 

สำหรับหมวดนี้ทรงให้พิจารณากาย (คือขันธ์ ๕)ในฐานะที่เป็นสิ่งปฏิกูลว่าร่างกายเรานี้เต็มไปด้วยสิ่งของที่ไม่สะอาด คือ พิจารณาเห็นกายนี้ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบนตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง  มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ  เต็มไปด้วยสิ่งของที่ไม่สะอาดชนิด ต่าง ๆ ว่าในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ  เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก  ไต หัวใจ ตับ  ผังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่  ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ    มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ฯลฯ(ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๗๗/๓๐๖.)

(๕)  หมวดมนสิการธาตุ 

สำหรับหมวดนี้พระพุทธองค์ทรงให้ผู้ปฏิบัติธรรมพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า  “ในกายนี้  ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่”เป็นการพิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งของสักว่าแต่ธาตุคือ ธาตุ ๔ ไม่ได้มีอะไรมากมายเกินไปกว่านี้

(๖)  หมวดป่าช้า ๙ หมวด

ในหมวดนี้พระพุทธองค์ให้ผู้ปฏิบัติธรรมพิจารณาขันธ์ ๕ ให้ละเอียดลงไปอีก คือพิจารณาให้เห็นเป็นเสมือนซากศพตามลำดับ ดังต่อไปนี้ คือ

(๑) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าตายแล้ว ๑ วัน  ๒ วัน  หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด  ศพเขียวคล้ำ  ศพมีน้ำเหลืองเยิ้ม

(๒) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน  นกตะกรุมจิกกินแร้งทึ้งกิน  สุนัขกัดกิน  หรือสัตว์เล็ก ๆ  หลายชนิดกัดกินอยู่

(๓) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นโครงกระดูกยังมีเนื้อและเลือด  มีเอ็นรึงรัดอยู่  แม้ฉันใด  ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า    “ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น  มีลักษณะอย่างนั้น  ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้”  ฉันนั้น

(๔) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า  เป็นโครงกระดูกไม่มีเนื้อ  แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่

(๕) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า  เป็นโครงกระดูกไม่มีเลือดเนื้อ  แต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่

(๖) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า  เป็นโครงกระดูกไม่มีเอ็นรึงรัด  กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่  ทิศเฉียง  คือ  กระดูกมืออยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง   กระดูกแข้งอยู่ทางทิศหนึ่ง   กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง  

กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกหลังอยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกหน้าอกอยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกคางอยู่ทางทิศหนึ่ง  กระดูกฟันอยู่ทางทิศหนึ่ง  กระโหลกศรีษะอยู่ทางทิศหนึ่ง  

(๗) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า  ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสีสังข์

(๘) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า  ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกองอยู่ด้วยกันเกิน ๑  ปี 

(๙) ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า  ซึ่งเป็นกระดูกป่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

พุทธทัศน์ว่าด้วย..กายานุปัสสนา ?

  

@ ทำไมถึงทรงให้พิจารณากายในมุมมองทั้ง ๙ หมวดนี้

ผมว่านะครับ การที่พระพุทธองค์ทรงให้ผู้ปฏิบัติธรรมพิจารณาเห็น “กาย”ในมุมมองต่างๆเหล่านี้เป็นการที่ทรงแสดงถึงการปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน คือ ทรงมุ่งให้ผู้ปฏิบัติธรรมโดยมากเป็นพระภิกษุให้นำเอาสติคือการมีอารมณ์อยู่กับปัจจุบันนี้มาพิจารณา “กาย”ในหมวดต่างเพื่อให้เห็นถึง “โทษของการยึดมั่นในกายว่าเป็นของของเรา”จากการไปยึดมั่นที่รูปร่างสัณฐาน หรือความสมบูรณ์ของกาย โดยทรงแนะนำให้พิจารณาไปตามลำดับจาก 

(๑) การดูลมหายใจ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากก็คือลมหายใจการพิจารณาลมหายใจทำให้เห็นว่ากายนี้เป็นอยู่ได้เพราะลมหายใจ แต่ก็น่าแปลกที่เรากำหนดลมหายใจนั้นยากที่สุดเพราะเป็นเรื่องที่เราเคยชินกันและลมหายใจก็เป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ไม่มีความแน่นอนสักเวลาลมหายใจไม่เคยเท่ากันเข้าๆออกอยู่อย่างนั้นไม่เที่ยงและไม่แน่นอน ดังนั้นขั้นแรกจึงทรงให้พิจารณาลมหายใจก่อนเพื่อกำหนดลมหายใจได้แล้วการจะไปเรียนบทเรียนต่อไปก็ง่ายขึ้น 

(๒) การพิจารณาอิริยาบถ เป็นการพิจารณาอิริยาบถหยาบๆก่อนคือการยืนเดินนั่งนอน พิจารณาให้เห็นอาการที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของกายที่จะต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา 

(๓) การเอาสติไปพิจารณาคือสัมปชัญญะ เป็นการพิจารณาอิริยาบถที่ละเอียดมากขึ้นก็คือ อาการเหยียดคู้ของกายเพื่อเปลี่ยนอาการที่ก่อให้เกิดทุกข์เป็นสุข การคู้เหยียดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณา เพราะต้องการให้เห็นว่ากายมนุษย์เรานี้จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เที่ยง เกิดดับอยู่ตลอด 

(๔) การเข้าไปพิจารณาว่ากายนี้เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล การพิจารณาขั้นนี้เป็นการพิจารณาภาพของกายที่เป็นองค์รวมเพื่อให้เห็น “ความจริง”ที่ว่าร่างกายของเรานี้ไม่สะอาด เพื่อให้เห็นแล้วจะได้คลายความยึดมั่นไม่ติดยึดกับความสวยความงามของร่างกายที่สมมติกันว่างามนี้ว่าความจริงมันคือไม่งาม เมื่อเห็นว่าไม่งามย่อมไม่ติดยึดกับสิ่งเหล่านั้น 

(๕) กายนี้สักว่าแต่เป็นธาตุ เป็นการพิจารณาให้เห็นว่าความจริงกายเรานี้ไม่ได้มีอะไรเป็นเพียงการรวมกันของธาตุ ๔ เท่านั้นไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ 

(๖) กายนี้เปรียบเหมือนซากศพที่ถูกทิ้งในป่าช้า เป็นการพิจารณาเพื่อให้เห็นความจริงว่าร่างกายเรานี้เมื่อตายไปแล้วก็จะเสื่อมสลายไปตามเวลาไม่สวยอยู่เหมือนเดิมที่เป็นสวยก็เน่าจนที่สุดก็จะเหลือเพียงกระดูกเท่านั้น เหตุที่ทรงให้พิจารณาเช่นนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า(๑) กายเรานี้ไม่เที่ยง (๒) เป็นทุกข์ (๓) เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นตามหลักไตรลักษณ์โดยทรงวางหลักการพิจารณาออกเป็นหมวดๆเพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และ เป็นอนัตตาของกายนี้เท่านั้นเอง

@ เอาล่ะตอนนี้ชักจะยาวไปหน่อย แต่เพื่อให้เห็นว่าการพิจารณากายในกายนั้นพระพุทธองค์ทรงให้พิจารณาอย่างไร ทำไมถึงให้พิจารณาแบบนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมที่กำลังสนใจเรื่องสติปัฏฐาน ๔ เนื่องจาการพิจารณากาย หรือการพิจารณาเพื่อให้เห็นความจริงของกายนี้ย่อมทำให้เราเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายและไม่ยึดติดกับเปลือกนอกของกายจนสามารถเข้าถึงความจริงของกายได้และนำเอาความรู้เรื่องกายนี้ไปเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงธรรมได้ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ที่ว่า

 ภิกษุมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า  “กายมีอยู่”  ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ  เจริญสติเท่านั้น  ไม่อาศัย  (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่  และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ ในโลก (ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๗๗/๓๐๗.)

อนึ่ง ผมคิดว่าเมื่อพิจารณามาทั้งหมดจะพบว่า สติปัฏฐาน ๔ กับไตรลักษณ์ค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกันมากหรืออาจจะเป็นมิติหนึ่งของกันและกัน เอาล่ะบทความหน้าเราจะมาพูดกันเรื่องเวทนานะครับเผื่อจะได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

Cr.Naga King


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

เฟซบุ๊ก Naga King

แชร์