"มหาสติปัฏฐานสูตร" พุทธทัศน์ว่าด้วยเรื่อง ....ธรรมานุปัสสนา
ธรรมที่ปรากฏในสติปัฏฐานสูตร ที่เราเรียกว่าเป็น “ธรรมานุปัสสนา” หมายถึง การเอาสติเข้าไปกำหนดรู้หรือพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นในขณะที่โยคาวจรปฏิบัติธรรม หรือหมายถึง “ธรรมที่เกิดในขณะปฏิบัติธรรม http://winne.ws/n24772
พุทธทัศน์ว่าด้วยเรื่อง ....ธรรมานุปัสสนา ?
เมื่อพูดถึงธรรมะผมเชื่อว่าหลายคนคงพอจะเข้าใจ แต่ผมก็เชื่ออีกแหละว่าคำว่าความเข้าใจของแต่ละคนนั้นก็ยังไม่เหมือนกันอยู่ดีเชื่อสิเพราะคำนิยามของคำว่า “ธรรมะ”แต่ละสำนักแต่ละยุคไม่เหมือนกันเท่าที่ผมศึกษามานะครับบางที่อธิบายไปอธิบายมา “งง”กันทั้งคนที่อธิบายและคนที่รับฟังคำอธิบาย
หลายคนเริ่มสงสัยว่าคำที่แท้จริงของคำว่า “ธรรมะ”นั้นมันคืออะไร ? ผมว่าผมฝากเป็นการบ้านให้ท่านผู้อ่านไปหาคำตอบในใจตัวเองก็แล้วกัน แต่ เอ..ถ้าถามผม ผมจะมีคำตอบเรื่องนี้ไหม คำตอบผมนะครับอาจจะไม่เหมือนใครผมว่าธรรมะ เอาง่ายๆเป็นสากลเลยก็คือ หากพูดถึงพระพุทธศาสนาธรรมะก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกนั่นแหละคือคำตอบ เช่น เมื่อเราไปศึกษาธรรมะผมว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปศึกษาอันอื่นนอกจากคำสอนของพระพุทธเข้าและพระสาวก พวกที่ชอบออกมาพูดว่า “คำตถาคต คำสาวก” นั่นผมว่าพวกสุดโต่ง จริงคำสอนของพระพุทธศาสนาก็คือ คำสอนทั้งสองส่วนแหละที่มีอยู่รวมๆกันในพระไตรปิฎก พวกที่พูดแบบนั้นเป็นพวกเรียนไม่จบนักธรรมตรี แต่มากระแดะพูดเพื่อเรียกศรัทธาก็เท่านั้น
@ ธรรมะ ใน สติปัฏฐานสูตร ?
เข้าเรื่องก่อนก็แล้วกันครับ เรื่องที่จะพูดในวันนี้ก็คือเรื่องของธรรมที่ปรากฏในสติปัฏฐานสูตร ที่เราเรียกว่าเป็น “ธรรมานุปัสสนา” นั้น คืออะไร ? สำหรับคำว่า “ธรรมานุปัสสนา” หมายถึง การเอาสติเข้าไปกำหนดรู้หรือพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นในขณะที่โยคาวจรปฏิบัติธรรม คำว่าธรรมที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึง “ธรรมทั่วๆไปหรือคำสอนทั่วๆไปที่ท่านกล่าวถึงธรรมก็คือ “ธรรมที่เกิดในขณะปฏิบัติธรรม”
เพราะธรรมในการปฏิบัติธรรมนี้ไม่ได้มีเรื่องของทาน ศีล หรือพระวินัยแต่อย่างใด แต่เป็นธรรมที่เกิดในขณะที่ปฏิบัติธรรม ในสภาวะสมาธิก็จะเกิดธรรมเหล่านี้ขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วอย่างไรท่านก็ให้เอาสติเข้าไปพิจารณาอย่างนั้น โดยธรรมที่เกิดในขณะปฏิบัติธรรมนี้มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
(๑) ธรรมที่เป็นไปในทางลบ ได้แก่ นิวรณ์ เป็นต้น
(๒) ธรรมะที่เกิดและเป็นไปในทางบวกก็เช่น โพชฌงค์ ๗ เป็นต้น
ดังนั้น ธรรมะในธรรมานุปัสสนาจึงเป็นธรรมเฉพาะของผู้ปฏิบัติธรรมว่ากันตามนี้นะครับ อย่าพึ่งข้ามหลักนี้ไปเดี๋ยวตกม้าตายก่อน
@ สำหรับ “ธรรม”ที่ปรากฏในสติปัฏฐานสูตรนี้ท่านจัดไว้เป็น ๕ หมวด คือ
(๑) หมวดนิวรณ์
เป็นหมวดธรรมะแรกๆที่เกิดขึ้นในจิตหรือในสภาวะของผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นแบบสมถะหรือวิปัสสนาก็ตามจะเกิดสภาวะในขั้นตอนแรกหรือด่านแรกที่เราจะต้องเจอก็คือ “ด่านนิวรณ์”นี่แหละโดยคำว่านิวรณ์แปลว่า “กั้น หรือเครื่องกั้นในที่นี้หมายถึงสิ่งที่คอยขัดขวางให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปได้ยาก ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงาจิตแล้ว ทอนกาลังปัญญา”(องฺ. ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๕๑/๘๙.)
โดยนิวรณ์ดังว่านี้มีอยู่ ๕ ประการคือ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุจธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมท้อถอย พระพุทธองค์ทรงสอนให้แก้ไขธรรมะข้อนี้ด้วยการเอาสติเข้าไปพิจารณาและปล่อยวางว่า
(๑) เมื่อกามฉันทะ (ความพอใจ) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่ากามฉันทะภายในของเรามีอยู่ หรือเมื่อกามฉันทะภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่ากามฉันทะภายในของเราไม่มีอยู่การเกิดขึ้นแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และกามฉันทะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
(๒) เมื่อพยาบาท (ความคิดร้าย) ภายในมีอยู่ .........
(๓) เมื่อถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ภายในมีอยู่ .........
(๔) เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ภายในมีอยู่ .........
(๕) เมื่อวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ภายในมีอยู่ก็รู้ชัดว่า วิจิกิจฉาภายในของเรามีอยู่ หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า วิจิกิจฉาภายในของเราไม่มีอยู่
การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น (ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๘๓/๓๑๙.)
ถามว่าที่ท่านให้พิจารณาเช่นนี้ก็เพราะสาเหตุอะไร คำตอบก็คือ ให้พิจารณาว่า (๑) มันคืออะไรมีสภาวะอย่างไร (๒)เกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างไร (๓) เราจะละวางสิ่งนั้นอย่างไรคือพิจารณาให้เห็นเป็นสักว่าแต่เกิดและดับไปเท่านั้นไม่เอาจิตไปข้องหรือไปยึดว่านั่นเป็นเราเขา เพราะนิวรณ์เหล่านี้เกิดแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาเมื่อพิจารณาเห็นรู้ชัดแล้วมันก็จะดับไปเอง
(๒) หมวดขันธ์ ๕
สำหรับหมวดขันธ์ ๕ นี้พระพุทธองค์ทรงหมายถึง “อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และก็วิญญาณ ซึ่งคำว่า อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น (อุป = มั่น + อาทาน = ถือ) มีความหมายหลายนัย เช่น หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ บ้าง
หมายถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิบ้างหรือ หมายถึง ความยึดมั่น ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส ยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหาผูกพันธ์เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต):๒๕๔๖:๑๗๘.)
ซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ นี้พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ตราบใด เรายังไม่รู้ชัดอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ โดยเวียนรอบ ๔ ครั้ง ตามความเป็นจริง ตราบนั้น เราก็ไม่ยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้โดยชอบซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์”(สํ.ข. (ไทย) ๑๗/๕๖/๘๑.)
ในสติปัฏฐานสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงให้พิจารณาขันธ์ ๕ ดังนี้
(๑) รูปเป็นอย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้เวทนาเป็นอย่างนี้..
.(๒) เวทนาเป็นอย่างนี้....
.(๓) สัญญาเป็นอย่างนี้....
.(๔) สังขารเป็นอย่างนี้...
.(๕) วิญญาณเป็นอย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
สาเหตุที่ท่านให้พิจารณาหรือเอาสติเข้าไปพิจารณาขันธ์ ๕ ก็เพราะในช่วงหนึ่งของเราขณะปฏิบัติธรรมจะแว๊บเข้าไปคิดเรื่องของร่างกายหรือมีภาพปรากฏเป็นร่างกายของเราหรือของคนอื่นให้เห็นทั้งสวยงาม ประณีตดั่งเทวดาหรือทรุดโทรมเหมือนสัตว์นรกก็ไม่ให้กลัวแต่ให้พิจารณา ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นให้เป็นเพียงสักว่าแต่เกิดมาแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดาไม่ใช่เราไม่ใช่เขาเพียงเข้าไปรู้ชัดเห็นชัดก็เพียงพอแล้ว เพื่อจะได้ละวางหรือปลงใจต่อเรื่องนั้น เนื่องจากการติดในขันธ์ ๕ นั้นเป็นธรรมดาปกติของมนุษย์
ดังนั้นจึงให้ทรงพิจารณาด้วยสติเพื่อรู้เท่าทันความจริงในเรื่องนี้(๓) หมวดอายตนะ ในหมวดอายตนะนี้หมายถึง อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ ซึ่งเป็นการพิจารณาให้เห็นภาพของอายตนะภายนอกภายในคู่กัย เช่น ตาคู่กับรูป หู คู่กับเสียงเป็นต้น ได้แก่(๑) รู้ชัดตา รู้ชัดรูป สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้นก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น (๒) รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง ..... (๓) รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น..... (๔) รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส ..... (๕) รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ .....(๖) รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ สังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้นเกิดขึ้นก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
สาเหตุที่ท่านให้เอาจิตหรือสติเข้าไปพิจารณาก็คือ เรื่องอายตนะนี้
(๑) เป็นเรื่องของการรับรู้และการเรียนรู้ ถ้ารับรู้ผิดๆก็เรียนรู้ผิด ถ้ารับรู้ถูกก็เรียนรู้ถูก สัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิก็เกิดจากการเรียนรู้หรือรับรู้ผ่านอายตนะนี้เท่านั้น ดังนั้น เรื่องอายตนะจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
(๒) เรื่องอายตนะ เป็นเรื่องของชีวิต ที่ว่าเป็นเรื่องของชีวิตก็คือคนเรามีอุปนิสัยหรือธรรมชาติอย่างหนึ่งก็คือ ชอบตามใจคอชอบสิ่งที่สุข สบาย ไม่ชอบสิ่งที่เป็นทุกข์ ลำบาก ดังนั้นจิตเราจึงวิ่งไปหาเฉพาะสิ่งที่ก่อให้เกิดความสบายมากกว่าสิ่งที่เป็นทุกข์ การพิจารณาอายตนะ คือ การละวางไม่ไปยึดติดทั้ง สิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบพิจารณา”สักว่าแต่เกิด สักว่าแต่ดับ หรือพิจารณาให้เห็นเป็นเรื่องของ “กระบวนการ”ไม่ได้ให้พิจารณาให้เห็นเป็นเรื่องของเราเขาที่ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ผมว่าพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นในเรื่องนี้จึงทรงมุ่งหวังให้ผู้ปฏิบัติธรรมรู้และเข้าใจในเรื่องของ “กระบวนการของอายตนะ”เมื่อรู้และเข้าใจแล้วที่สุดก็จะสามารถละวางไม่ยึดมั่น ความรู้ที่ได้ก็จะก่อให้เกิดความสุขมากกว่าความทุกข์
(๔) หมวดโพชฌงค์ คำว่า โพชฌงค์ หมายถึง องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี ๗ ประการ คือ
(๑) สติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ การมีความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นปัจจุบันขณะและสามารถรู้ธรรมที่เกิดที่ดับได้เท่าทันเป็นปัจจุบันขณะ (๒) ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม
(๓) วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเพียร, ความบากบั่น, ความเพียรเพื่อจะละความชั่ว ประพฤติความดี, ความพยายามทำกิจ ไม่ท้อถอย
(๔) ปีติสัมโพชฌงค์ ความอิ่มใจปลาบปลื้มเต็มไปทั้งตัว
(๕) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความสงบกายสงบใจ, ความสงบใจและอารมณ์, ความสงบเย็น,ความผ่อนคลายกายใจ
(๖) สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน,ภาวะที่จิตตั้งเรียบแน่วอยู่ในอารมณ์คือสิ่งอันหนึ่งอันเดียว,
(๗) อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุและรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง,ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆสิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแนไม่ก้าวก่ายแทรกแซง
(๕) หมวดสัจจะ สำหรับคำว่า สัจจะ ในที่นี้ หมายถึงหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของความจริงทางพระพุทธศาสนา ความจริงดังกล่าวนั้นก็คือความจริงที่เรียกว่า “อริยสัจ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิรธ มรรค โดยที่พระพุทธองค์ทรงให้เอาสติไปพิจารณาดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่าภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์”คือ ชาติ (ความเกิด) เป็นทุกข์ ชรา (ความแก่) เป็นทุกข์ มรณะ (ความตาย) เป็นทุกข์ โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
(๒) รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ทุกขสมุทัย” คือ ตัณหานี้เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เป็นเหตุเพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
(๓) รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธ” คือ ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ ความปล่อยวาง ความสละคืน ความพ้น ความไม่ติดก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหนรู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”
(๔) รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
(๑) สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) คือ ความรู้ในทุกข์ (ความทุกข์) ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์)
(๒) สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน (๓) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
(๔) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
(๕) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ
(๖) สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (๑) สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น (๒) สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (๓) สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (๔) สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
(๗) สัมมาสติ (ระลึกชอบ)คือ ภิกษุในธรรมวินัย (๑) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ (๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ . . (๓) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ . . . (๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
(๘) สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (๑) สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ (๒) เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ (๓) เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า “ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” (๔) เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
สาเหตุที่ท่านให้พิจารณาในเรื่องของธรรมทั้ง ๕ หมวดนี้ก็เนื่องจากทรงให้พิจารณาให้เห็นทั้งธรรที่เป็นอุปสรรคกับการปฏิบัติธรรมและธรรมที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เห็นแล้วมีสติรู้และละวางเพื่อให้เกิดความรู้อย่างแท้จริงไม่ยึดติดเนื่องเราอาศัยธรรมเพียงเพื่อการปฏิบัติเท่านั้นไม่ได้อาศับธรรมเพื่อการยึดติดดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่าภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า “ธรรมมีอยู่” ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ ในโลก (ที.ม. (ไทย) ๑๐/๔๐๔/๓๓๘.)
Cr.Naga King
ขอบคุณภาพและบทความธรรมะดี ๆ
จากเฟซบุ๊ก Naga King