สธ. เตือน ปี 2563 ไม่ใช่แค่โควิด! โรคไข้เลือดออกยังต้องระวัง! เป็นภัยร้ายใกล้ตัว

อากาศที่เย็นชื้นเชื้อโรคหลายชนิดจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ประชาชนอาจป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ จึงขอให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว http://winne.ws/n27425

1.4 พัน ผู้เข้าชม
สธ. เตือน ปี 2563 ไม่ใช่แค่โควิด! โรคไข้เลือดออกยังต้องระวัง! เป็นภัยร้ายใกล้ตัว

1. ความเป็นไปได้ 'ไข้เลือดออก' อาจระบาดต่อจาก COVID

    "ไข้เลือดออก" ประจำปี 2563 ที่นักวิชาการคาดว่าอาจระบาดในไทยตีคู่มากับโควิด-19 ที่ยังระบาดไม่หยุด พร้อมเช็คอาการป่วยจาก "ไข้เลือดออก" ว่าแตกต่างจากอาการป่วยโควิดอย่างไรบ้าง? ซึ่งความระบาดของ "โควิด-19" ยังไม่ทันหาย ความระบาดของ "ไข้เลือดออก" ก็จ่อตามมาติดๆ ครั้งเมื่อตอนนี้เกิดฝนตกชุกในหลายพื้นที่ของประเทศไทยซึ่งเป็นผลมาจากพายุฤดูร้อน พอฝนตกก็เกิดน้ำขัง พอมีน้ำขังก็เกิดปัญหา "ยุงลาย" และ "ไข้เลือดออก" ตามมา มีรายงานพยากรณ์โรค "ไข้เลือดออก" ประจำปี 2563 จากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีการระบาดต่อเนื่องจากปี 2562 ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากถึง 147,361 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับการระบาดใหญ่ในปี 2558 โดยแนวโน้มจะสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน และจำนวนผู้ป่วยสูงลอยไปจนถึงสิ้นปี โดยรายงานฉบับนี้เป็นผลการพยากรณ์ในช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่การระบาดของ "ไข้เลือดออก" และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ระบุในรายงาน ดังนี้

     1). พื้นที่เสี่ยงสูงต่อ "ไข้เลือดออก" ระดับอำเภอ สำหรับพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการระบาดโรคไข้เลือดออกระดับอำเภอ มีจำนวน 224 อำเภอ ใน 60 จังหวัด โดยพบว่าอำเภอเสี่ยงสูงส่วนใหญ่เป็นอำเภอเมือง และอำเภอที่มีขนาดใหญ่และมีความเจริญเทียบเท่าอำเภอเมือง โดยเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น สถานศึกษา ศูนย์ราชการ สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีประชากรเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นจำนวนมาก

    2). กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วย "ไข้เลือดออก" กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยโรค "ไข้เลือดออก" ยังคงอยู่กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุประมาณ 10-14 ปี แต่อย่างไรก็ตามในกลุ่ม อายุ 15 ปีขึ้นมีแนวโน้มของอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยภาคเหนือและภาคกลาง สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม ผู้ใหญ่ (มากกว่า 18 ปีขึ้นไป) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภารใต้สัดส่วนผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก (น้อยกว่า 18 ปี)

     3). กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตจาก "ไข้เลือดออก"กลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก (0-4 ปี) และวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีอัตราป่วยและเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 0.28 เนื่องจากผู้ใหญ่และผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ทำให้เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับวาย ไตวาย ที่รักษาได้ยาก นอกจากนี้ผู้ใหญ่ส่วนมากเมื่อป่วยมักซื้อยารับประทานเองหรือไปฉีดยาลดไข้ที่คลินิก ทำให้ไม่ได้ไปตรวจหาสาเหตุของไข้ที่โรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ จึงได้รับการรักษาที่ล่าช้า

      4). เชื้อก่อโรค "ไข้เลือดออก" คือเชื้อไวรัส! การรายงานผลการตรวจหาชนิดเชื้อไวรัสเดงกีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกองโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่า ในปี 2560-2562 เชื้อไวรัสสายพันธุ์ DENV-1 และ DENV-2 เป็นเชื้อชนิดเด่นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับชนิดเชื้อไวรัสเดงกีในผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่ง DENV-2 เป็นชนิดเชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ดังนั้น ในปี 2563 จึงอาจจะเป็นอีกปีที่มีการระบาดต่อเนื่อง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูงเหมือนกับปี 2562

     5). อาการป่วย "ไข้เลือดออก" VS "โควิด-19" มีรายงานจากวารสารแลนเซ็ต ที่จัดทำโดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในสิงคโปร์ ระบุว่า การแยกความแตกต่างระหว่างโรค "ไข้เลือดออก" กับ "โควิด-19" เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากทั้งสองโรคมีลักษณะทางคลินิกและห้องทดลองปฏิบัติการคล้ายคลึงกัน และหากผลตรวจเลือดออกมาเป็นบวก แพทย์มักสรุปก่อนว่าเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ที่ไข้เลือดออกระบาด ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มดังกล่าวยังให้ความเห็นอีกว่า โรคที่เกิดจากไวรัสทุกอย่างมีความคล้ายกันมาก เช่น อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ที่พบได้ทั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้ซิกา หรือไข้ชิคุนกุนยา อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า ไวรัสไข้เลือดออกและไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้อาการเบื้องต้นจะคล้ายกันแต่จะแยกแยะได้เมื่อมีการดำเนินโรค โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจสั่งตรวจตามข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆ ของผู้ป่วย

      ด้านนายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค อธิบายว่า แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยยังต้องต่อสู้และควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ต้องไม่ลืมว่าในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ยังมีโรค "ไข้เลือดออก" และ "ไข้หวัดใหญ่" ที่สามารถพบผู้ป่วยได้มากเช่นกัน ซึ่งตอนนี้รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลง เพราะประชาชนร่วมกันสวมหน้ากาก ล้างมือ สำหรับโรคไข้เลือดออกก็ต้องช่วยกันป้องกัน สามารถทำได้โดยช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตัดวงจรการแพร่พันธุ์ในช่วงอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องตระหนักเรื่องการวินิจฉัยโรคทั้งโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก เพราะผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการคล้ายกัน และสำหรับอาการของโรคโควิด-19 และโรคไข้เลือดออกมีอาการป่วยแตกต่างกันดังนี้ 

     (1) อาการไข้จากโรค ไข้เลือดออก ผู้ป่วยมักจะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน (ไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส) และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน บางรายอาจมีอาการชักได้โดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีน้ำมูกหรือไอ แต่จะเบื่ออาหารและอาเจียน อาจพบมีผื่นแบบ erythema หรือ maculopapular ซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่น rubella ได้ พบว่ามีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และอาจเกิดภาวะช็อกได้ (2) ส่วนอาการไข้จากโรค โควิด-19 แสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อย ไม่ว่าจะเป็นอาการคัดจมูก มีไข้ ปวดหัว ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง และมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย หากป่วยในระดับความรุนแรงมาก จะมีอาการปอดบวม หายใจลำบาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิต และอาการที่พบบ่อยคือ มีไข้ (88%), ไอแห้งๆ (68%), หอบเหนื่อย (38%), หายใจลำบาก (18%), เจ็บคอ (14%)

2. รัฐบาลห่วงประชาชนการระบาดของโควิด-19 สูงขึ้น และไข้เลือดออกต่อเนื่องซ้ำ

    โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มออกมาใช้ชีวิตปกติเห็นได้จากจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หวั่นเกิดการแพร่โรคอีกครั้ง เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้ขอเดินทางกลับไทยผ่านช่องทางต่างๆ และชายแดนใต้ไม่ต่ำกว่าวันละ 350 ราย ยังไม่รวมเส้นทางอื่นที่เริ่มให้ประชาชนทยอยเดินทางกลับไทย จึงอยากขอให้ประชาชนอดทน อย่าเพิ่งรีบออกมาใช้ชีวิตตามปกติ และคงมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เน้นสวมหน้ากากผ้า ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่มสังสรรค์ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ยังช่วยควบคุมการแพร่กระจายโรคได้

     ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยรักษาหายกลับมาเป็นซ้ำทั้งในรายที่เชียงราย และชัยภูมิ ในผู้ป่วยรายที่ชัยภูมิ ยืนยันว่าเป็นซากเชื้อโควิด-19 อยู่ แต่ไม่มีไข้ ส่วนรายที่เชียงราย นอกจากมีไข้แล้ว พบว่ามีปอดอักเสบร่วมด้วย โดยอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของแพทย์ว่าเกี่ยวข้องกับโควิด-19 หรือไม่ หรือเป็นการติดเชื้อแบคที่เรียซ้ำเติม โดยภายในระยะเวลา 30 วัน ที่ให้ผู้ป่วยที่รักษาหาย กักตัวต่อ ในช่วงนี้จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคน ในการป้องกันไม่ให้ติดซ้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป เนื่องจากเป็นโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน ขอให้ทุกคนเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน หากรุนแรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. ภัยเงียบท่ามกลางโควิด ปีนี้ 2563 "ไข้เลือดออก" เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ป่วย 8,746 ราย

     ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน บางพื้นที่ฝนตก มีน้ำขังในภาชนะ เศษวัสดุ จานรองต้นไม้ ขยะ ยางรถยนต์เก่า ที่อาจมีไข่ยุงลายแห้งติดอยู่ก่อนแล้วหลายเดือนจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายเมื่อได้รับน้ำ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกซึ่งในปีนี้ถึงแม้จะมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 แต่ก็ยังพบผู้ป่วยมากกว่าปี 2560 และ 2561 สำหรับกลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นเด็กวัยเรียน 5-14 ปี แต่กลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป จึงขอให้ประชาชนใช้โอกาสช่วงอยู่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และป้องกันโรคไข้เลือดออกควบคู่ไปด้วย

     นอกจากนี้ อากาศที่เย็นชื้นเชื้อโรคหลายชนิดจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ประชาชนอาจป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ จึงขอให้ประชาชนสวมหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่คนเยอะๆ ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 เมษายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 8,746 ราย ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 599 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 6 ราย และในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ระยองอ่างทอง นครราชสีมา พิจิตร ระนอง เลย ขอนแก่น พังงา สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด ตามลำดับ ซึ่งไข้เลือดออก อาหารไข้เลือดออก ภัยเงียบทำให้เสียชีวิตนับร้อยในไม่กี่วัน

ที่มา กระทรวงสาธารณสุข https://moph.go.th/ กรมควบคุมโรค

แชร์