4 เทคนิคฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง(Deep Listening)
“การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” http://winne.ws/n5884
การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้นมีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว
ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสินประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆอยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น
หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่าการฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. สังเกตสัญญาณทางกาย
ในขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วยว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร เช่นเมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนๆที่หน้าแค่ให้รู้สึกตัวพอ จากนั้นก็กลับมาฟังต่อเทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุดและไม่พลาดสาระสำคัญใดๆไปเลย
………….
2.สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง
เมื่อใดมีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมาก็ตาม เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน มันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้วสังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้าแล้วจะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที
เมื่อถึงจุดนี้ให้ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไปให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง ด้วยการบอกกับตนเองว่าเราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไรเพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเราให้สามารถฟังต่อไปได้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
………………
3. ใคร่ครวญกับตัวเอง
ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตามในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเดิมๆของเราซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันทีเราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย
ดังนั้นในการฝึกการฟังให้สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัวอยู่เสมอมองลึกเข้าไปให้ถึงที่มาของอารมณ์ในขณะนั้น เริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่เราไม่ชอบ อะไรที่ขัดกับคุณค่าในใจของเรา มันทำให้เรารู้สึกอย่างไร
…………
4. ทำการแยกแยะ
ฟังเสียงในหัวที่เราพูดวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆเหล่านั้นแล้วถามตัวเอง ด้วยการแยกแยะว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไรสิ่งที่เราตีความไปด้วยตนเองคืออะไร ในที่สุดเรามีปฏิกิริยาตอบสนองไปอย่างไร
จงระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความมันแยกออกจากกันได้เสมอ ฝึกที่จะวางเฉยและช้าลง ในการตอบโต้บทสนทนาอย่างทันทีให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆและนานขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการโต้ตอบอัตโนมัติของร่างกาย
…………………
ที่ผ่านมา ในหลายๆครั้งเรามักจะกลับมาเสียใจในสิ่งที่เราพูดหรือกระทำลงไปโดยไม่ทันยั้งคิดดังนั้นให้ใช้การสนทนาและการตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้นมากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเราหรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก
เราไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างถูกต้องดีพร้อมหรือสมบูรณ์แบบ หากแต่เมื่อได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น
และนี่คือ 4 เทคนิคเพื่อฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก www.learninghubthailand.com