โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อ "คน ช้างป่า" อยู่ร่วมกันได้

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 560,593 ไร่ ถูกแวดล้อมด้วยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนและการขยายตัวของพื้นที่การเกษตรของราษฎร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย กล้วย ลูกเดือย http://winne.ws/n18044

1.3 พัน ผู้เข้าชม
โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อ "คน ช้างป่า" อยู่ร่วมกันได้

“คน-ช้างป่า”...อยู่ร่วมกันด้วยนวัตกรรม โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 560,593 ไร่ ถูกแวดล้อมด้วยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนและการขยายตัวของพื้นที่การเกษตรของราษฎร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย กล้วย ลูกเดือย เป็นต้น

โดยเฉพาะพื้นที่ที่ราษฎรได้ขยายพื้นที่ทำกินนั้น เดิมเป็นแหล่งอาหารของช้างป่า ประกอบกับพืชไร่ส่วนใหญ่เป็นพืชที่เป็นอาหารช้างป่าได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช้างป่าออกไปหากินนอกเขตฯ และทำความเสียหายต่อพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอวังสะพุง และอำเภอภูหลวง ช้างป่าได้ออกไปหากินนอกเขตฯและทำความเสียหายทำลายพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้อยู่เป็นประจำโอกาสที่ช้างป่าจะถูกทำร้ายบาดเจ็บเสียชีวิตจึงมีมากไปด้วยเช่นกัน

โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อ "คน ช้างป่า" อยู่ร่วมกันได้

เมื่อปี 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการปลูกพืชอาหารช้างในพื้นที่ป่าธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ช้างออกไปหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งช้างจะออกไปทำความเสียหายให้กับพืชสวนไร่นาของชาวบ้าน และเป็นสาเหตุให้ช้างถูกทำร้ายถึงกับเสียชีวิต

ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้มีโครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า โดยการจัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check dam)แบบต่างๆสร้างโป่งเทียมเพื่อเพิ่มแหล่งเกลือแร่ให้กับสัตว์ป่า เพาะชำกล้าไผ่หนามเพื่อปลูกเป็นรั้วป้องกันช้างป่า เพาะชำกล้าไผ่เพื่อปลูกเป็นอาหารสำหรับช้างป่า ปลูกพืชอาหารสำหรับช้างป่า เช่น ไผ่ กล้วย หว้า มะม่วงป่า มะไฟป่า เป็นต้น

รวมทั้งการจัดทำทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์ป่า ติดตามช้างป่าออกนอกพื้นที่ และในปี 2559 ได้มีการจัดอบรมส่งเสริมเกษตรกรต้นแบบการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่เกษตรกรรมจากการทำลายของช้างป่าสนองพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้คนและช้างอยู่ร่วมกันได้พร้อมกับทรัพยากรธรรมชาติที่จะพึ่งพาเกื้อกูลกัน

รั้วรังผึ้ง : นวัตกรรมทำได้

ด้วยหลักคิดที่จะทำให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ที่นับว่ามีความสำคัญ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงจึงคิดค้นนวัตกรรมรั้วรังผึ้งป้องกันช้างป่า ซึ่งได้องค์ความรู้มาจาก Beehive fence construction manual โดย Dr.Lucy E.King.2012 ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพการใช้รั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่เกษตรจากช้างป่าในประเทศเคนยา ดังนั้น สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย จึงได้นำนวัตกรรมนี้ไปขยายผลในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่เข้ามาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อำเภอภูเรือ อำเภอภูหลวง และอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

รั้วรังผึ้งนั้น ได้เริ่มที่ประเทศเคนยา โดยการสังเกตพฤติกรรม หลายครั้งที่ช้างป่าวิ่งหรือเดินหนีออกห่างจากฝูงผึ้งและรังผึ้ง พื้นที่ที่มีผึ้งอาศัยอยู่ คลื่นเสียงความถี่ต่ำของการบินของผึ้ง มีผลต่อการระแวดระวังภัยของช้าง โดยช้างป่าที่มีประสบการณ์จะถ่ายทอดพฤติกรรมการจดจำด้านลบมาสู่รุ่นต่อรุ่น ซึ่งผึ้งจะบินวนรอบๆที่ดวงตา ปลายงวงและบริเวณผิวหนังที่บางตรงหูของช้างป่า สามารถทำให้ช้างป่า เกิดความเจ็บปวดหรือรำคาญได้ โดยผึ้งที่ใช้เลี้ยงนั้นเป็นผึ้งพันธุ์จากต่างประเทศ ที่นำมาเลี้ยงเมื่อ 20 ปีก่อน มีนิสัยไม่ดุร้าย สามารถเก็บน้ำหวานได้ปริมาณมาก เรียกว่าพันธุ์อิตาเลียน ลักษณะตัวจะมีสีเหลือง สามารถเลี้ยงในบ้านเราได้ดี

การติดตั้งเสารั้วผึ้ง จะประกอบไปด้วย เสาไม้ไผ่ ยาว 1.65 เมตร 2 ต้น ขุดหลุมฝังเสาลึก 0.3 เมตร โดยมีระยะห่างจากเสา 1.7 เมตร ติดตั้งคานไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.05 เมตร ยาว 1.6 เมตร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงในการรองรับน้ำหนักของกล่องผึ้ง ระยะห่างของรังผึ้งแต่ละชุด ชุดละ 6 เมตร ควรทาน้ำมันเครื่องเก่า ทาบริเวณรอบเสาเพื่อป้องกันมดแดงหรือศัตรูของผึ้ง ต้องทาอย่างน้อย 3 วัน หรือหมดกลิ่น เตรียมเชือกสำหรับแขวนกล่องผึ้ง โดย 1 กล่อง ใช้เชือก 2 เส้น ความยาว 1.8 เมตร กล่องผึ้งแต่ละกล่องห่างกันประมาณ 7 เมตร

โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อ "คน ช้างป่า" อยู่ร่วมกันได้

“เรียนรู้อยู่ร่วมกัน” ช้างป่า : คน : ธรรมชาติ

โครงการฟื้นฟูอาหารช้างป่าภูหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายกิจกรรมได้ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ช่วยทำให้มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสำหรับช้างป่า จำนวน 105 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น

ตลอดจนการใช้นวัตกรรมรั้วรังผึ้งป้องกันพื้นที่เกษตรจากการทำลายของช้างป่า ขณะนี้ได้ดำเนินการนำร่องในแปลงของเกษตร 3 ราย พร้อมที่จะขยายผลให้แก่พื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นๆต่อไป

นางสาวสุดารัตน์ ชัยชะนะ/เรียบเรียง
กองประสานงานโครงการพื้นที่ 2 สำนักงานกปร.

ขอบคุณข้อมูลจาก: http://www.siamrath.co.th/n/21396

แชร์