พุทธศาสนาในรัสเซีย
มีคนนับถือพระพุทธศาสนาราว 300,000 คน มีประชาคมชาวพุทธ 432 ประชาคม มีวัด (datsan) 16 วัด และมีพระลามะ 70 รูป ทั่วทุกสาธารณรัฐโซเวียต (ก่อนปี ค.ศ. 1991) http://winne.ws/n10391
ชาวพุทธส่วนใหญ่อยู่กันที่สาธารณรัฐบุรยัต (Buryat Republic) สาธารณรัฐคาลมีเกีย (Kalmykia Republic) และสาธารณรัฐตุวา (Tuva Republic) กับในเขตการปกครองชีตา (Chita Region) ของสหพันธรัฐรัสเซีย และในเมืองเลนินกราดและเมืองอื่นๆ
องค์การที่มีอำนาจสูงสุดของชาวพุทธโซเวียต (ก่อนปี ค.ศ. 1991) ได้แก่ คณะกรรมการกลางชาวพุทธ (Central Buddhist Board) ตั้งอยู่ที่วัดอีวอลคินสกี ดัตสัน ในสาธารณรัฐบุรยัต (Buryat Republic) ( สำนักงานถาวรในกรุงมอสโกมีหน้าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ) สมาพันธ์สงฆ์และคฤหัสถ์จะประชุมกัน 4 ปื ต่อ 1 ครั้ง เพื่อเลือกสมาชิกของคณะกรรมการฯ ประธานของคณะกรรมการกลางพุทธ คือ บัณฑิโต คัมโบ –ลามะ มุนโก ทซีบานอฟ วัย 82 ปี
ลามะมองโกเลียและทิเบตได้เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไบกาล(Lake Baikal)ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 และได้ทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปได้อย่างรวดเร็ว ต่อมาในศตวรรษเดียวกันนั้นพระพุทธศาสนาก็ได้กลายเป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากในสาธารณรัฐตุลา(Tuva Republic) ชาวคามีเกีย(Kalmyks) ซึ่งเป็นพวกที่อพยพจากจีนเข้าไปยังที่ราบลุ่มของแม่น้ำโวลกาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาด้วย
ปัณฑิโต ฮัมโบ ลามะ แห่งวัดอิวอลคินสกีดัตสันองค์ที่ 12
ในปี ค.ศ. 1927 บัณฑิโต ฮัมโบ ลามะ แห่งวัดอิวอลคินสกีดัตสัน (Pandito Hambo Lama of the Ivolginsky Datsan) นามว่า กาชี ดอร์โซ อิติเคลอฟ (Dashi-Dorzho Itigelov) ได้บอกกับศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่าขอให้ฝังศพของท่านหลังจากที่ท่านละสังขารแล้วและให้ขุดขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไปอีก 30 ปี จากนั้นท่านอิเคนอฟก็นั่งขัดสมาธิ เริ่มสาธยายมรณสติกถา และละสังขารไปในขณะนั่งทำสมาธิอยู่นั่นเอง พวกพระก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่านอิติคินอฟคือนำศพของท่านไปฝัง และในอีก 30 ปี
ต่อมาก็ได้ขุดศพของท่านมาตรวจสอบ ก็ได้พบว่าศพของท่านไม่เน่าเปื่อย ตรงกันข้ามศพของท่านอิติเคลอฟมีลักษณะเหมือนคนเพิ่งตายเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ทั้งที่กาลเวลาผ่านไปนานถึง 30 ปีแล้ว พวกพระกลัวว่าเรื่องมหัศจรรย์นี้จะไปเข้าหูรู้ถึงเจ้าหน้าที่ทางการของโซเวียต ก็จึงได้นำศพของท่านอิติเคลอฟไปฝังไว้ยังที่หลุมศพที่ปกปิดเป็นความลับแห่งหนึ่ง เรื่องราวของท่านอิติเคลอฟก็โด่งดังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นวันที่มีการขุดศพของท่านขึ้นมาไว้ที่วัดอิวอลคินสกีดัตสัน (Ivolginsky Datsan) และได้มีการตรวจสอบศพของท่านอย่างละเอียดโดยพระกับทั้งโดยนักวิทยาศาสตร์และนักพยาธิวิทยา และได้มีการออกแถลงการณ์เป็นทางการบอกว่า
ศพของท่านยังมีสภาพดีทุกอย่าง ไม่ปรากฏร่องรอยของการเน่าเปื่อย กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อภายใน ข้อต่อ และผิวหนังยังดีและมีความอ่อนนุ่มอยู่ เรื่องที่น่าอัศจรรย์ก็ตรงที่ศพของท่านไม่ได้ผ่านการดองหรือการทำมัมมีแต่อย่างใด
ในปัจจุบันร่างของท่านถูกนำไปบรรจุลงในโลงแก้ว ในท่านั่งขัดสมาธิเหมือนเดิม ห่มจีวรเหลือง ร่างโน้มไปข้างหน้าเล็กน้อย มีจมูกและตายุบลง ตั้งไว้ที่ขั้นบนของอาคาร จะเปิดให้ผู้แสวงบุญเข้าไปชมปีละ 7 วัน และจะเปิดเฉพาะวันหยุดของชาวพุทธเท่านั้น ในแต่ละปีเมื่อถึงวันที่เปิดให้เข้าชมร่างของท่านก็จะมีนักแสวงบุญจำนวนมากมายหลั่งไหลไปที่วัด ชาวพื้นเมืองมีความเชื่อว่าร่างกายของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์และมีอานุภาพในการรักษาโรคได้ จึงมีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อไปนมัสการร่างของท่านแล้วก็จะใช้หน้าผากก้มลงไปสัมผัสกับผ้าพันคอของท่านที่เขาคลี่ออกมาจากต้านใต้ของโลงแก้ว แล้วอธิษฐานจิตขอให้หายจากโรคต่างๆที่ตนเป็นอยู่
วัดคุนเซชอยนี ดัตสัน(Gunzechoyney datsan)ที่ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก
สำหรับวัดพระพุทธศาสนาที่เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก มีชื่อว่า คุนเซชอยนี ดัตสัน(Gunzechoyney datsan) เริ่มก่อสร้างระหว่าง ค.ศ. 1909-1915 แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 ได้บีบบังคับให้ต้องปิดตัวเอง ในช่วงปีแรกๆของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตนั้น มีหน่วยทหารเข้าไปตั้งอยู่ในสนามของวัด ข้างในวัดได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก พระพุทธรูปและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาถูกทำลายและพวกทหารก็ได้ใช้กระดาษคัมภีร์ของทิเบตมวนสูบยา ต่อเมื่อนายแพทย์ทิเบตชื่ออัควาน ดอร์เซียฟ ทำการประท้วงอย่างแข็งขัน เขาจึงคืนวัดนี้ให้แก่ประชาคมชาวพุทธ ในระหว่างปี ค.ศ. 1923-1924 ข้างในวัดได้รับการบูรณะเป็นบางส่วน พระพุทธรูปขนาดความสูง 4.5 เมตร ที่มีดวงเนตรทำด้วยดินเผาหลากสีได้ถูกนำมาจากประเทศโปแลนด์มาสถิตไว้ที่วัดแห่งนี้
ในปี ค.ศ. 1938 วัดคุนเซชอยนี ดัตสันได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นศูนย์กีฬา และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการใช้ชั้นใต้ดินของอาคารเป็นที่ผลิตลูกระเบิดมือ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำไปใช้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ และในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 สถาบันวิทยาศาสตร์สังคมนิยมโซเวียตได้มาใช้อาคารเป็นที่ทดลองทางสัตววิทยา จากเหตุทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าว ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปลักษณ์ภายนอกของอาคาร อุปกรณ์บางส่วนของอาคารสูญหายไป ยกตัวอย่างเช่น แผ่นทองแดงที่ติดประดับอยู่ที่ประตูสามชุดถูกแกะออกไป ส่วนห่วงประตูที่ทำด้วยทองแดงก็ใช้วัสดุอื่นในสมัยนั้นมาใส่ไว้แทน
ทุกวันนี้มีลามะจากสาธารณรัฐบุรยัตได้แวะเวียนเข้าไปที่วัดคุนเซชอยนี ดัตสัน อยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับที่สาธารณรัฐคาลมีเกีย โดยจะมาคอยช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมามีชิวิตชีวาดังเดิม ในปัจจุบันมีลามะจำนวนไม่น้อยได้สึกหาลาเพศออกจากลามะไปมีครอบครัว และลามะเหล่านี้ก็ได้มาช่วยกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน มีชาวมอสโกหลายร้อยคนมาลงทะเบียนเพื่อเปิดห้องสวดมนต์ในวัดคุนเซชอยนี ดัตสัน เพื่อใช้สวดมนต์
ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ในคราวเปิดวัดอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 1914 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ทรงส่งพระพุทธรูปร่วมแสดงความยินดีด้วย เป็น พระปางนั่งสมาธิ และปางอุ้มบาตร และปัจจุบัน พระ ดร.รศ. ชาตรี เหมพนฺโธ แห่งวัด อภิธรรมพุทธวิหาร เซนต์-ปิเตอร์เบอร์ก ได้มาเป็นวิทยากรผู้บรรยายพระพุทธศาสนา ณ วัดแห่งนี้ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
วัดพระพุทธศาสนา “อิวอลคินสกีดัตสัน” ในสาธารณรัฐบูรยาเทีย ประเทศรัสเซีย
คำว่า ดัตสัน (Datsan) เป็นคำที่ใช้ สำหรับมหาวิทยาลัยวัดของพุทธศาสนา (Buddhist university monasteries) ตามรูปแบบของเครุกปา(Gelukpa) ของทิเบต ซึ่งมีอยู่ทั่วในประเทศมองโกเลีย ประเทศทิเบต และในไซบีเรียของรัสเซีย กล่าวโดยทั่วไป ในดัตสันจะมี 2 คณะ คือ คณะปรัชญา และคณะแพทยศาสตร์ ในบางครั้งก็จะมีคณะเพิ่มเข้ามาอีกคณะหนึ่ง คือ คณะปฏิบัติตันตระ ซึ่งพระสงฆ์จะใช้ศึกษาเล่าเรียนหลังจากที่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะปรัชญาแล้ว
สำหรับวัดอิวอลคินสกีดัตสัน(Ivolginsky Datsan) ที่ปรากฏในภาพ เป็นวัดพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐบูรยาเทีย (Buryatia) อยู่ห่างจากเมืองอูลันอูเด(Ulan-Ude) 23 กิโลเมตร ใกล้กับหมู่บ้านเวอร์คินยายาไอโวลกา (Verkhnnyaya Ivolga)
อิวอลคินสกีดัตสัน ทำการเปิดในปี ค.ศ. 1945 เป็นศูนย์ศาสนาของชาวพุทธแห่งเดียวของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต(USSR) เป็นสถานที่พำนักของท่านปัณฑิโต คัมโบ ลามะ ผู้เป็นประมุขของพระลามะของรัสเซีย ต่อมาเป็นที่พำนักของคณะกรรมการพุทธศาสนากลางของสหภาพโซเวียต ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพุทธสังฆะของรัสเซีย ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นที่พำนักของท่าน บัณฑิโต คัมโบ ลามะ ผู้เป็นประมุขของพระลามะของรัสเซีย พิธีกรรมที่จัดขึ้นในวัดนี้มีทั้งพิธีกรรมทางศาสนา การรักษาโรค ตลอดจนเป็นที่จัดการศึกษาพุทธศาสนาแบบโบราณ และมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอยู่ในสังกัดชื่อ มหาวิยาลัย ดาชิ โชอินโขร์ลิง (Dashi Choinkhorling) ซึ่งเปิดเมื่อปี ค.ศ. 1991