บูรณะ "องค์พระไดบุทสึ" มรดกพุทธศาสนาในญี่ปุ่น
พระพุทธรูป “ไดบุทสึ” ... พระคู่บ้านคู่เมืองของญี่ปุ่น ได้รับการบูรณะใหม่ในรอบ 55 ปี (สำนักข่าว Asahi Shimbun) http://winne.ws/n129
บูรณะองค์พระไดบุทสึ
พระพุทธรูป "ไดบุทสึ” (Daibutsu) องค์นี้อาจมีอายุราว 800 ปี แต่บัดนี้ได้กลับสู่สภาพรูปทรงที่ดูดีหมดจดยิ่งกว่าเดิม หลังจากผ่านการ “ตรวจซ่อมแซมสภาพ” อยู่นาน 2 เดือนจนเสร็จสิ้นขั้นตอนไปเมื่อวานนี้ (10 มีนาคม)
นั่งร้านและแผ่นหุ้มโปร่งแสงซึ่งคลุมองค์พระตลอดเวลาของการทำความสะอาดและการเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสภาพ เพิ่งถูกเคลื่อนย้ายออก ภารกิจซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ณ วัดโคโตะกุอิง นับเป็นการบูรณะครั้งสำคัญ เป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปี และตั้งแต่วันนี้ (11 มีนาคม) เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวก็จะสามารถปีนเข้าไปชมภายในตัวองค์พระได้อีกครั้ง
พระพุทธรูป "ไดบุทสึ” มีความสูงกว่า 13 เมตร หล่อจากบรอนซ์น้ำหนัก 121 ตัน เชื่อกันว่าได้นำมาประดิษฐานเมื่อปีคริสต์ศตวรรษที่ 13 (ปีค.ศ. 1252 ในสมัยคะมะกุระ) และถือเป็นสมบัติของชาติ ส่วนหนึ่งของเนื้องานที่ช่างต้องรับผิดชอบดูแลในระหว่างการซ่อมแซมทำความสะอาดที่ผ่านมา ก็คือการกำจัดเศษหมากฝรั่งที่ตกค้าง รวมถึงขี้นกและคราบอื่นๆ จากการตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์บ่งบอกว่าสภาพโดยรวมขององค์พระนั้น ได้กลับคืนสู่สภาพที่ดีดังเดิม
คุณมาซายูกิ โมริอิ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยแห่งชาติ แผนกดูแลทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ณ กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นผู้ควบคุมตรวจตราการดำเนินการครั้งนี้ กล่าวว่า "พระพุทธรูปไม่มีความเสียหายรุนแรงหรือพบร่องรอยเสียหายใดๆ จากการเกิดแผ่นดินไหว” และในวันที่ 22 มีนาคม ศกนี้พระภิกษุที่วัดโคโตะกุอิง ก็จะประกอบพิธีสมโภชในวาระพิเศษที่การบูรณะพระพุทธรูปเป็นผลสำเร็จ
พระพุทธรูปไดบุทสึ (鎌倉大仏) เป็นรูปจำลองพระอมิดา หรืออมิตาภะพุทธเจ้า (Amitābha; 阿弥陀仏) ตามความเชื่อในพุทธศาสนามหายานนิกายสุขาวดี ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศญี่ปุ่น ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งภายในวัดโคโตะกุอิง (Kōtoku-in; 高徳院) ซึ่งเป็นวัดพุทธนิกายสุขาวดีหรือโจโดชู (Jōdo-shū) ในเมืองคะมะกุระ จังหวัดคะนะงะวะ ประเทศญี่ปุ่น
จากบันทึกของทางวัด เล่าว่าแต่เดิมพระพุทธรูปสร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ สำเร็จในปีค.ศ. 1243 แต่ได้ถูกทำลายไปพร้อมกับห้องโถงประดิษฐาน เพราะถูกพายุกระหน่ำในปีค.ศ. 1248 เป็นเหตุให้พระภิกษุชื่อ โจโค (Jōkō) ปรารภที่จะหล่อขึ้นใหม่ด้วยบรอนซ์ กระทั่งรวบรวมทุนก่อสร้างจากการบริจาค และดำเนินการจนสำเร็จในปีค.ศ. 1252 โดยช่างแกะสลักระดับแนวหน้าในสมัยนั้น คือ โอะเนะ โกะโระเอะมอง (Ōno Gorōemon) และทันจิ ฮิซะโตะโมะ (Tanji Hisatomo)
พระพุทธรูปบรอนซ์นี้ เดิมเป็นพระพุทธรูปสีทอง สังเกตจากร่องรอยของทองคำเปลวที่เหลืออยู่บริเวณพระกรรณ (ใบหู) ประดิษฐานอยู่ภายในโบสถ์ไม้ แต่ต่อมาอาคารได้พังทลายลงเนื่องจากถูกคลื่นสึนามิซัดในปีค.ศ. 1498 และอีกครั้ง ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองคันโต (Kantō) ในปีค.ศ. 1923 ทำให้ฐานขององค์พระได้รับความเสียหายจนต้องทำการบูรณะฐานในปีค.ศ. 1925 และในปี 1960-1961 ได้มีการบูรณะพระพุทธรูปให้มีความคงทนมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พังทลายจากเหตุแผ่นดินไหว
✑ แปลและเรียบเรียง: ทิพย์ปัญญา
Credit ขอขอบคุณ ภาพและข่าวจาก
http://ajw.asahi.com/article/behind_news/social_affairs/AJ201603100053