ปาฏิหาริย์หลวงปู่เนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย บ้านสามหมื่น อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี เป็นชื่อที่ชาวสุพรรณทั้งที่อยู่ในวงการพระเครื่องและไม่ใช่ ต่างรู้จักท่านดี เป็นที่นับถือโดยทั่วไป ลือกระฉ่อนในด้านปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าสืบต่อกันมาอย่างน่าระทึกใจ http://winne.ws/n14213
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย บ้านสามหมื่น อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี เป็นชื่อที่ชาวสุพรรณทั้งที่อยู่ในวงการพระเครื่องและไม่ใช่ ต่างรู้จักท่านดี เป็นที่นับถือโดยทั่วไป ลือกระฉ่อนในด้านปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าสืบต่อกันมาอย่างน่าระทึกใจ
มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาถึงปาฏิหาริย์ของหลวงปู่เนียมมากมาย ประวัติและปาฏิหาริย์ของท่านได้ถูกเขียนลงในนิตยสารพระเครื่องดังๆ หลายฉบับ พระเครื่องที่ท่านทำขึ้นมาเพื่อแจกสานุศิษย์มีหลายพิมพ์ด้วยกัน ได้แก่ พิมพ์พระประธาน พิมพ์พระคง พิมพ์ปรุหนัง พิมพ์พุทธลีลา พิมพ์ขุนแผน และที่ดังมากก็คือพิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น และพิมพ์เศียรแหลม พระของหลวงปู่ทุกพิมพ์เป็นเนื้อชินตะกั่ว มีรูปทรงไม่สวยนัก แต่มีพุทธคุณสูงยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องคงกระพัน ขณะนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของคนรุ่นลูก หลาน เหลนของสานุศิษย์แท้ ๆ ของท่าน ในพื้นที่บางปลาม้า ซึ่งเห็นห้อยคอเดี่ยวๆ และไม่ค่อยจะมีใครยอมปล่อยให้หลุดจากคอ พระของหลวงปู่จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาดพระ
น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์
เล่ากันว่าครั้งหนึ่งมีคนจีนคนหนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดโพธิ์คอย ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ ไกลวัดน้อยนัก ได้พายเรือมาหาท่านด้วยความร้อนรน เนื่องด้วยลูกสาวของแกป่วยหนัก รักษาทางยามาก็มากแล้วอาการก็ไม่ทุเลา ซ้ำทำท่าจะแย่ลงทุกที (บางคนเล่าว่าลูกสาวเจ็บท้องจะคลอดลูก แต่ลูกไม่ออก เจ็บปวดทุรนทุราย)
มาถึงวัดก็เห็นหลวงปู่อยู่บนหลังคาศาลาท่าน้ำ กำลังช่วยพระเณรมุงหลังคากันอยู่ ด้วยความรีบร้อนก็ตะโกนเรียกหลวงปู่ให้ลงมาช่วยทำน้ำมนต์ให้หน่อย แต่ท่านก็คงให้รอก่อนหรืออย่างไรไม่แจ้งเถ้าแก่คงร้อนใจและเซ้าซี้ท่านจนน่า รำคาญ และอาจจะเป็นด้วยท่านต้องการจะแสคงอภินิหารหรือรำคาญเถ้าแก่คนนั้น ไม่มีใครเดาได้
ท่านจึงตะโกนจากหลังคาศาลาท่าน้ำว่า มึงตักน้ำที่ตีนท่านั่นแหละไป กูเสกไว้แล้ว แล้วท่านก็มุงหลังคาต่อ เถ้าแก่คนนั้นไม่รู้จะทำท่าไหน คงโมโหไม่เบา นั่งมุงหลังคาอยู่เห็นชัดๆ เสกแสกอะไรกัน แต่ก็สิ้นท่าแล้ว ชีวิตลูกสาวแขวนอยู่บนเส้นด้าย จะพาไปโรงพยาบาลหลวงก็อยู่บางกอกโน่น แจวเรือไปสามวันสองคืนก็ยังไม่ถึง เมื่อร้อยปีก่อนโน้นเรือเมล์แดงก็ยังไม่มี ถึงมีก็เถอะก็ต้องวิ่งกันถึงค่อนวันกว่าจะถึง หมดท่าแล้ว หลวงปู่ให้ตักเอาน้ำที่หัวบันไดท่าน้ำไป ก็ต้องเอา ใจน่ะ ไม่ค่อยจะเชื่อเอาเสียเลยแต่ก็ไม่รู้จะทำท่าไหน เล่าว่าเถ้าแก่คนนั้นจ้วงตักเอาน้ำนั้นไปด้วยความโมโหและไม่เลี่อมใสว่าน้ำ
ในแม่น้ำจะเป็นน้ำมนต์ได้อย่างไร ครั้นจะไม่เอาก็เกรงใจ เกรงว่าวันหน้าจะเข้าหน้ากันไม่ได้ พอพายเรือกลับ เลยหน้าวัด พ้นสายตาหลวงปู่ ก็หยิบเอาขวดหรือไหที่ใส่มา เททิ้งด้วยความโมโห และก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น คือน้ำนั้นเทไม่ออก
และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา คนสุพรรณต่างก็รู้กันว่า น้ำในแม่น้ำหน้าวัดหลวงปู่เนียมศักดิ์สิทธิ์เท่ากับน้ำมนต์ที่ท่านทำขึ้นมา เพียงอธิษฐานจิตคิดถึงหลวงปู่ก็เอาไปใช้ได้เช่นกัน
แม้หลายสิบปีหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้ว พวกชาวเรือชาวแพที่ล่องผ่านหน้าวัด ก็ยังเชื่อว่าน้ำหน้าวัดใช้แทนน้ำมนต์ได้ คุณสำราญ แก้ววิชิต (อายุ ๖๘ ปี) ลูกหลานวัดน้อย และขณะนี้ก็เป็นกรรมการวัดได้เล่าว่า
ตอนที่แกเป็นเด็กมักจะมาเล่นกับเพื่อน ๆ ที่ศาลาท่านาหลังที่หลวงปู่สร้างไว้เป็นประจำ สมัยนั้นเรือแพยังล่องขึ้นลงไปมาเสมอ และมีเรือเมล์แดงวิ่งรับส่งคนโดยสารระหว่างสุพรรณกับบางกอกแล้ว เมื่อเรือแจวหรือเรือโยงมาถึงหน้าวัดพวกชาวเรือเหล่านั้น (ส่วนมากเป็นคนจีน) ก็จะเริ่มจุดธูปอาราธนาขอพร เอาธูปนั้นปักไว้ที่หัวเรือ เสร็จแล้วก็คว้ากระป๋อง ตักน้ำหน้าวัด สาดขึ้นหลังคาเรือ ส่วนพวกเรือเมล์ ก็จะลดความเร็วลง แล้วผู้โดยสารทั้งหนุ่มสาวเฒ่าชราจะเอื้อมมือลงไปวักเอาน้ำหน้าวัดขึ้นลูบ หัวลูบหน้าแทนน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
แม้ขณะนี้ก็ยังเห็นคนเฒ่าคนแก่ มาตักเอาน้ำมนต์ในตุ่มหน้าองค์ท่านไปใช้ ซึ่งก็เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เหมือนเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่
ถ่ายรูปไม่ติด
เล่าขานสืบกันมาอีกว่าตลอดระยะเวลาที่หลวงปู่มีชีวิตอยู่นั้น ไม่เคยมีใครถ่ายรูปท่านได้ -ขุนดอน เขียนไว้ว่าเมื่อครั้งพระประมาณฯ เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน นำฝรั่งช่างรังวัด ๒ คนมารังวัดที่ ในเขตเมืองสุพรรณ เพื่อออกโฉนดให้ราษฎร์ เมื่อรังวัดมาถึงท้องที่วัดน้อย ก็ได้ถือโอกาสเข้าขอถ่ายรูปหลวงปู่ โดยให้ฝรั่งเอากล้องถ่ายรูปของทางราชการช่วยถ่ายให้ ตัวคุณพระประมาณฯ นั้น เคยรู้กิตติศัพท์มาแล้วว่ามีคนเคยมาขอถ่ายรูปหลวงปู่หลายรายแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จสักราย คราวนี้มีกล้องฝรั่งอย่างดีมาด้วย ก็อยากจะลองพิสูจน์สักหน่อย มันก็น่าจะติด
คุณพระฯ ได้นิมนต์หลวงปู่และพระทั้งวัดมานั่งเรียงลำดับแล้วถ่ายรูปหมู่และถ่าย เดี่ยวด้วย แต่จะเป็นกี่รูปไม่ทราบ ครั้นเมื่อนำฟิล์มไปล้างอัดเป็นรูปออกมา ความอัศจรรย์ก็ปรากฏคือ ในทุกภาพที่อัดออกมาไม่มีรูปของหลวงปู่ติดอยู่ด้วยเลย ที่ถ่ายเดี่ยวข้างโอ่งน้ำมนต์ก็ติดแต่ตัวโอ่ง เล่ากันว่าทั้งตัวคุณพระประมาณฯ และฝรั่งทั้งสองคนต่างก็เลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่ยิ่งนัก และได้ปวารณาตัวฝากตัวขอเป็นศิษย์หลวงปู่
อย่างไรก็ตามท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าแล้วรูปถ่ายที่ลูกศิษย์ลูกหาเอาใส่ กรอบบูชาและที่เอาลงหนังสือกันนั้นมาจากไหน จึงขอเรียนว่า รูปของหลวงปู่ที่ได้มามีเพียงรูปเดียว เป็นรูปที่ถ่ายได้หลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว คือท่าที่เขาจัดให้ท่านนอนตะแคงบนตั่งเตียง ส่วนรูปท่านั่งนั้นเล่ากันว่า ช่างได้เอารูปหน้าของท่านไปตัดต่อสวมกับส่วนลำตัวของพระภิกษุรูปอื่น โดยมีการตกแต่งส่วนใบหน้าที่ไม่ชัดขึ้นมาโหม่ ทำให้ดูเป็นหน้าค่อนข้างกลมและศีรษะล้านไปหน่อย
ทดสอบวิชากับหลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย
ขุนดอน เล่าว่า วันหนึ่งท่านให้ชาวบ้านเตรียมภัตตาหารเลี้ยงพระไว้ ๕๐ สำรับ ซึ่งยังความแปลกใจให้ชาวบ้านมาก เพราะหลวงปู่ไม่เคยบอกว่าพรุ่งนี้จะมีงานอะไร วันที่ว่าก็ไม่ใช่วันพระ พระเณรในวัดก็มีแค่ไม่ถึงสิบรูป สงสัยเป็นหนักหนาก็พากันไปกามท่าน ท่านก็ยิ้มๆ แล้วบอกว่า พวกมึงทำมาเถอะน่า ชาวบ้านไม่กล้าซักไซ้มากกลัวท่านจะเอ็ดเอา
วันรุ่งขึ้นต่างก็พากันนำอาหารมาตามที่ท่านขอ ดูชุลมุนวุ่นวายราวกับมีงานใหญ่ ครั้นพอถึงเวลาเพล ก็ไม่เห็นมีพระเณรที่ไหนจะมาฉัน ต่างซุบซิบกันว่าท่านจะเล่นอะไรอีกละนี่ แต่เลยเพลมาครู่เดียวก็พากันตกตะลึงด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะเห็นพระเณรจำนวนมาก แบกกลดเดินตามพระแก่ ๆ รูปหนึ่งเป็นแถวเข้ามาในวัด ชาวบ้านเห็นหลวงปู่ออกไปปฏิสันฐานทักทายกับหลวงพ่อองค์นั้นแบบคนรู้จักกัน ทั้งๆ ที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน แล้วหลวงปู่ก็นำพระเณรทั้งหมดขึ้นไปบนหอฉัน
ภายหลังชาวบ้านก็ทราบว่าหลวงพ่อรูปนั้นคือ หลวงปู่ปานแห่งวัดบางเหี้ย คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ เจ้าของเขี้ยวเสือที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักเลงพระในปัจจุบัน ซึ่งท่านนำพระเณรสานุศิษย์เกือบร้อยรูปธุดงค์ลัดเลาะตามทางเกวียนผ่านมา เพื่อไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์ เมื่อจวนเวลาเพลก็ธุดงค์มาใกล้วัดน้อย และพอได้ยินกลองเพลดังขึ้น ก็เกิดลมพายุขึ้นอย่างแรงจนพระเณรที่แบกกลดพะรุงพะรังแทบจะทรงตัวไม่อยู่ เล่ากันว่าหลวงปู่ปานแปลกใจในปรากฏการณ์นี้มาก ท่านยืนหลับตาสงบเงียบอยู่ชั่วครู่ แล้วก็บอกพระเณรลูกแถวของท่านว่า จะต้องแวะฉันเพลที่วัดน้อยซะแล้ว เพราะเจ้าวัดท่านนิมนต์ให้แวะ ไม่ควรขัดศรัทธา และทันใดนั้นเองพายุนั้นก็สงบลงทันที
ห้ามฝนตกในงานวัด
เล่ากันว่าเมื่อต้นฤดูฝนปีหนึ่ง ท่านมีอายุครบ ๖ รอบ (ราวๆ พ.ศ. ๒๔๔๔-๒๔๔๕) ชาวบ้านร่วมใจกันจัดงานทำบุญแซยิดให้ท่าน โดยจัดเป็นงานใหญ่ มีเทศน์หลายธรรมาสน์ มีการออกร้านมีการละเล่น ลิเก ลำตัด เพลงฉ่อย หนังตะลุง ฯลฯ สมโภชฉลองกันอย่างเอิกเกริกแบบงานประจำปี มีร้านขายดอกไม้ธูปเทียน และทองบูชาหลวงพ่อในโบสถ์ มีร้านรวงขายของเล่น จับรางวัลและขายอาหารเพียบพร้อม ซึ่งบังเอิญช่วงเวลานั้นเข้าหน้าฝนแล้ว
พอเวลาใกล้ค่ำผู้คนก็ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มเมฆดำที่ก่อตัวมาจากที่อื่นถูกลมพัดพามาปกคลุมท้องฟ้า เหนือบริเวณวัดดูมืดครึ้มไปหมด แล้วฝนก็พรำๆ ลงมา ชาวบ้านเริ่มวิ่งหลบเข้าหาที่กำบังกัน ตามใต้ถุนกุฏิและศาลา ดูกลุ่มเมฆแล้วฝนต้องตกหนักแน่ ทุกคนคาดกันว่างานนี้ต้องพังแน่นอน พวกร้านรวงที่ไม่มีหลังคากำบัง ก็โกลาหลเริ่มขนย้ายข้าวของหาที่หลบฝน ขณะนั้นเองคนทั้งหลายก็เห็นหลวงปู่เดินออกมาจากกุฏิ ยืนแหงนมองดูท้องฟ้า สักพักใหญ่ๆ แล้วเดินวนไปมาแบบเดินจงกรม อีกชั่วครู่ท่านก็ตะโกนบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องเก็บข้าวของแล้วเทวดาท่านช่วย ไล่ฝนไปแล้ว
ชาวบ้านต่างก็แหงนมองดูฟ้าก็เห็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้น กล่าวคือเห็นกลุ่มเมฆหนาทึบนั้นแตกตัวลอยห่างออกไป แล้วท้องฟ้าเหนือวัดก็ค่อยแจ่มใสขึ้น เม็ดฝนที่พรำลงมาก็ขาดเม็ดไป ผู้คนก็เริ่มทยอยกันเข้ามาจนเต็มงาน เล่ากันว่าเมื่องานเลิกผู้คนที่อยู่ห่างวัดออกไปสักหน่อยก็ต้องเดินท่องน้ำ กลับบ้าน
ย่นระยะทาง
คุณป้าทรัพย์ เล่าแถมอีกสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งว่าแม่ของแกเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้รับตราตั้งอะไรจำไม่ได้ ซึ่งต้องไปรับตาลปัตรที่เมืองบางกอก เมื่อถึงกำหนดแล้วก็ไม่เห็นหลวงปู่กระตือรือร้นที่จะไป พวกลูกหลานลูกศิษย์ลูกหาก็มาเตือนให้ไป ท่านก็ได้แต่เออๆ แต่ไม่ไปสักที เตือนแล้วเตือนอีกหลายหน เพราะกลัวว่าท่านจะลืมและเลยกำหนด มาวันหนึ่งก็มาเซ้าซี้ให้ท่านไปอีก ท่านก็บอกไปว่า กูไปรับมาแล้วโว้ย พวกลูกศิษย์ก็เถียงว่าหลวงพ่อไปเมื่อไหร่ ฉันเห็นหลวงพ่ออยู่วัดทุกวัน ท่านก็เถียงกลับว่า เออ กูไปรับมาแล้วซิวะ แล้วท่านก็เดินเข้ากุฏิถือตาลปัตรพัดยศออกมาให้ดู
หลวงพ่อเนียมมรณภาพเมื่ออายุ ๘๐ ปี โดยมรณภาพในลักษณะเหมือนพระปางไสยาสน์ นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของเมืองไทยที่มีการมรณภาพเช่นนี้ ผู้เขียนไปวัดน้อย สอบถามผู้ใกล้ชิดแล้วบวกลบคูณหารดู ปรากฏว่าตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๒ ประมาณ ๙๕ ปีมาแล้ว หลังจากการฌาปนกิจเสร็จแล้วชาวบ้านแย่งกันเก็บอัฐิของท่านเอาไปไว้บูชากันอย่างอลหม่าน
ในด้านพระพุทธคุณพระเครื่องของหลวงพ่อเนียม มีปรากฏการณ์หลายรายด้วยกันอย่างน่าระทึกใจ เช่น รถคว่ำมีพระหลวงพ่อเนียมไม่เป็นไร นี้แหละครับพระพุทธคุณของพระหลวงพ่อวัดน้อย อันเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เลื่องลือซึ่งเป็นที่รู้จักกันของชาวสุพรรณเป็นอย่างดีมานานแล้ว
ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-neam/lp-neam-hist-index.htm
ในประเทศไทย มีพระภิกษุที่มีคุณวิเศษมากมาย มองภายนอกอาจเป็นตะกั่ว แต่ภายในคือทองคำสุกปลั่งทีเดียว ดังนั้นเราสาธุชนผู้มีกิเลสหนา ปัญญาหยาบจะไปเทียบกับท่านหรือมองท่านเท่ากับเรานั้นไม่ได้ บาปกรรมจะท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ไม่คุ้ม ทางที่ดีคิด พูด ทำแต่สิ่งที่ดี เห็นพระก็กราบไหว้ ในฐานะท่านมีศีลมากกว่า เป็นลูกพระพุทธเจ้า กำลังฝึกฝนอบรมตนเองให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตามสมเด็จอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป้าหมายถางทางไปสู่พระนิพพาน หากท่านมีเป้าหมายคือพระนิพพาน ท่านคือเนื้อนาบุญอันประเสริฐแล้ว