คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 6 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร?

มรรคทั้ง 8 ประการ เป็นหนทางนำไปสู่นิโรธความดับทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเป็นทางสายกลาง ที่ไม่ข้องแวะ ด้วยทางสุดโต่งสองสาย ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเป็นข้อปฏิบัติ ที่ชาวพุทธทุกคนควรยึดเป็นแนวทางละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสของตนสืบไป http://winne.ws/n15938

6.2 พัน ผู้เข้าชม
คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 6 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร?

อธิบายคำแปลและความหมาย ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 6 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

มรรคทั้ง 8 ประการ เป็นหนทางนำไปสู่นิโรธความดับทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเป็นทางสายกลาง ที่ไม่ข้องแวะด้วยทางสุดโต่งสองสาย ที่คนในยุคนั้นเข้าใจกันว่า เป็นทางดับทุกข์จัดเป็นแนวทางแห่งการพัฒนาตน จากปุถุชนคนธรรมดา ขึ้นสู่ความเป็นพระอริยเจ้า

(ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ)

(สัจจญาณ)

อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทาอะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณังอุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายจักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ววิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า  นี่ (มรรคมีองค์ 8) เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

(กิจจญาณ)

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินีปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ววิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นแล ควรให้เจริญ

(กตญาณ)

ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินีปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ววิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า

ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนั้นแลอันเราเจริญแล้ว

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 6 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร?

มรรคทั้ง 8 นั้นประกอบด้วย

 1. สัมมาทิฐิ ความเห็นถูก

 2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก

 3. สัมมาวาจา การพูดถูก

 4. สัมมากัมมันตะ การกระทำถูก

 5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพถูก

 6. สัมมาวายามะ ความพยายามทำในสิ่งที่ถูก

 7. สัมมาสติ ความมีจิตสำนึกถูกต้อง

 8. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจถูกต้อง

อธิบายอริยมรรคทั้ง 8 ประการ

สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกคือทัศนคติที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต 

เพราะในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญก็คือทัศนคติในการดำเนินชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นจากความเชื่อความรู้ หรือประสบการณ์ เป็นเหมือนกับเข็มทิศในการใช้ชีวิต การวางเป้าหมายในชีวิตรวมไปนึกถึงจิตสำนึกที่ตระหนักผิดชอบชั่วดี พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสสัมมาทิฐิเป็นข้อแรกสุดของมรรค8 สัมมาทิฐินี้มีอยู่ 10 ประการคือ

 1. ทานที่ให้แล้วมีผล

 2. การบวงสรวง(การสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน) มีผล

 3. การบูชา (การยกย่องนับถือ) มีผล

 4. ผลวิบากของกรรมที่ทำดีหรือทำชั่วมีจริง

 5. โลกนี้มีจริง

 6. โลกหน้ามีจริง

 7. มารดามี (พระคุณ) จริง

 8. บิดามี (พระคุณ) จริง

 9. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ(เกิดขึ้นได้เอง ไม่ต้องมีพ่อแม่ เช่นเทวดา) มีจริง

10. สมณพราหมณ์ที่ปฏิบัติชอบตรัสรู้ธรรมและสั่งสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตาม(พระพุทธเจ้า) มีจริง

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 6 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร?

พระทัตตชีโว (เผด็จ ทตฺตชีโว)ท่านได้อธิบายความหมายของสัมมาทิฏฐิไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจถูกในเรื่องการดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

และท่านยังได้แบ่งสัมมาทิฏฐิทั้ง 10 ประการ ออกเป็นสามส่วน ดังนี้

สัมมาทิฏฐิข้อที่ 1 –  4 ท่านได้จัดเป็นความเข้าใจถูกในดำเนินชีวิตให้เป็นสุขในชาตินี้

สัมมาทิฏฐิข้อที่ 5 – 9 ท่านได้จัดเป็นความเข้าใจถูกในดำเนินชีวิตให้เป็นสุขในชาติต่อไป

สัมมาทิฏฐิข้อที่ 10 ท่านได้จัดเป็นความเข้าใจถูกในดำเนินชีวิตให้ถึงสุขอันไพบูลย์คือการหลุดพ้น จากเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ 

สัมมาสังกัปปะ การคิดดีได้แก่ละเว้นมโนทุจริต 3 คืออภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ ปฏิบัติมโนสุจริต 3 คืออนภิชฌา อพยาบาท สัมมาทิฐิ

สัมมาวาจา การพูดดีได้แก่ละเว้นวจีทุจริต 4 คือการพูดเท็จพูดส่อเสียด พูดทำร้ายจิตใจ และพูดเพ้อเจ้อ ปฏิบัติวจีสุจริต 4 คือการไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียดไม่พูดทำร้ายจิตใจ และไม่พูดเพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ การทำดีได้แก่ละเว้นกายทุจริต 3 คือฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ปฏิบัติกายสุจริต 3 คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ไม่ประพฤติผิดในกาม

สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพอย่างถูกต้อง ไม่ผิดศีลธรรม ได้แก่ไม่ผิดมิจฉาวณิชชา 5 ประการ (ค้าอาวุธ ค้ายาพิษค้าสัตว์ให้เขาเอาไปฆ่า ค้ามนุษย์ ค้าสุราเมรัย) 

สัมมาวายามะ ความพยายามในการปฏิบัติมรรค 7 ประการที่เหลือให้บริบูรณ์เป็นตัวขับเคลื่อนมรรคให้สมบูรณ์

สัมมาสติ ความระลึกถูกต้องคือมีสติมั่นเตือนตนในการทำความดี โดยไม่เผลอไปทำความชั่วสัมมาสติเป็นตัวควบคุมให้การปฏิบัติมรรค 8 เป็นไปด้วยดี

สัมมาสมาธิ ความสงบนิ่งของใจที่ไม่วอกแวกฟุ้งซ่าน ซึ่งเกิดได้ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งต้องอาศัยมรรค 7 ประการข้างต้นสนับสนุนด้วย

       สัมมาทิฐิทั้ง 10 ประการนี้แล เป็นตัวนำให้เกิดการคิดดี (สัมมาสังกัปปะ) พูดดี (สัมมาวาจา) ทำดี (สัมมากัมมันตะ) จนตลอดต่อเนื่องไปชั่วชีวิต เป็นการเลี้ยงชีพโดยถูกต้อง (สัมมาอาชีวะ) ความพยายามทำความดีอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นความพยายามที่ถูกต้อง (สัมมาวายามะ)ในการละชั่ว ทำดี สติที่คอยกำกับการละชั่วทำดีนี้ก็เป็นสัมมาสติ 

      สัมมาทิฐิทั้ง 7 ข้อนี้รวมกันจะทำให้เกิดสัมมาสมาธิ การทำใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นตัวนำไปสู่นิโรธนั้นเอง (จะกล่าวว่า ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือสัมมาสมาธิก็ไม่ผิดนักเพราะสัมมาสมาธินี้ หมายเอาการเจริญภาวนาตามกัมมัฏฐานทั้งสองโดยตรง) มรรคทั้ง 8 ประการมีผลเนื่องถึงกันเช่นนี้ 

        นอกจากการอธิบายมรรค 8 ในทางโลกิยะแล้ว ยังมีมรรค 8 ในทางโลกุตตระเช่นกันถ้าหากในทางฝ่ายโลกิยะมรรค 8 ก็คือการละชั่ว ทำดีทางกาย วาจา และใจ โดยมีสัมมาทิฐิเป็นตัวนำแล้ว ในทางโลกุตตระมรรค 8 ก็คือการทำให้ใจผ่องใสยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยปล่อยวางความยึดติดในขันธ์อันเกิดจากตัณหาเพื่อเข้าถึงฌาน ปล่อยวางความยึดติดในฌาน เพื่อเข้าถึงมรรคผลไปตามลำดับว่าง่าย ๆ ก็คือมรรค 8 ฝ่ายโลกิยะเป็นการละเว้นบาปสั่งสมบุญทำความดี อันจะยังประโยชน์ให้เกิดในภพปัจจุบัน และสัมปรายภพเบื้องหน้าส่วนมรรค 8 ฝ่ายโลกุตตระเป็นการละกิเลสในจิตใจไปตามลำดับ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสในวิภังคสูตร แห่งอริยมรรค 8 ประการว่า

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 6 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร?

ดูกรภิกษุทั้งหลายก็

สัมมาทิฏฐิ เป็นไฉน? ความรู้ในทุกข์ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ.

สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน? ความดำริในการออกจากกามความดำริ ในอันไม่พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ.

สัมมาวาจา เป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจากพูดเท็จพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา.

สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน? เจตนาเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตอทินนาทาน จากอพรหมจรรย์ นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ.

สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จชีวิตอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ.

สัมมาวายามะ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้นเพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน เพิ่มพูน ไพบูลย์เจริญ บริบูรณ์ แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ.

สัมมาสติ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติพึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ ฯลฯย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ ฯลฯ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย นี้เรียกว่า สัมมาสติ.

สัมมาสมาธิ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไปบรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ"

และเมื่อได้ปฏิบัติมรรคฝ่ายโลกุตตระได้สมบูรณ์แล้วจะทำให้เกิดมรรคอีก 2 ประการคือสัมมาญาณะ (ความรู้ถูกต้อง) และสัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นอย่างถูกต้อง)ดังพุทธพจน์ในมหาจัตตารีสกสูตรว่า

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 6 ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิ ย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิ ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

            ผู้มีสัมมาทิฐิย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาทิฐิ ได้ ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาทิฐิ เป็นปัจจัยนั้นก็เป็นอันผู้มี สัมมาทิฐิ สลัดได้แล้วและกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เพราะสัมมาทิฐิเป็นปัจจัย ฯ

            ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาสังกัปปะได้...

            ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาวาจาได้...

            ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉากัมมันตะได้...

            ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาอาชีวะได้...

            ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาวายามะได้...

            ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาสติได้...

            ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาสมาธิได้...

            ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาญาณะได้...

            ผู้มีสัมมาวิมุตติย่อมเป็นอันสลัด มิจฉาวิมุตติได้ ทั้งอกุศลธรรมลามก เป็นอเนกบรรดามีเพราะ มิจฉาวิมุตติ เป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้วและกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย"

        ทั้งในฝ่ายโลกิยะหรือโลกุตตระอริยมรรค 8 ก็เป็นหนทางนำไปสู่นิโรธความดับทุกข์ทั้งปวงมัชฌิมาปฏิปทา ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเป็นข้อปฏิบัติ ที่ชาวพุทธทุกคนควรยึดเป็นแนวทางละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสของตนสืบไป

        พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ มัชฌิมาปฏิปทาปฏิปทา อันนำไปสู่นิโรธ อริยสัจข้อสำคัญที่ทำให้พระองค์ตรัสรู้อริยสัจทั้ง 4 สำเร็จ ทรงตรัสรู้ว่าเป็นทางไปสู่นิโรธ เป็นข้อปฏิบัติที่ควรทำให้เจริญและพระองค์ก็ทำสำเร็จในที่สุด

อริยสัจทั้ง 4 พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วด้วยประการฉะนี้.

จบตอนที่ 6

อ้างอิง

วิภังคสูตร อริยมรรค ๘ http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=19&A=174&Z=210

มหาจัตตารีสกสูตร http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=3724&Z=3923&pagebreak=0

หนัง​สือ​สร้างปัญญาเป็นทีมโดยพระทัตตชีโว (เผด็จ ทัตตชีโว)

Cr.ปธ.ก้าวต่อไป

แชร์