‘ม.จ.ร.’ เผยงานวิจัยฯเน้นหลักพุทธช่วย ‘เณร’ รู้เท่าทันสื่อออนไลน์

(ม.จ.ร.)ได้วิจัยเรื่อง “Smart Novices สามเณรยุคศตวรรษ 21 ทำโครงงานนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน” ที่เหมาะสมกับวัย และความเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคม ผ่านกระบวนการฝึกฝนให้เยาวชนลงมือปฏิบัติ http://winne.ws/n16372

1.1 พัน ผู้เข้าชม
‘ม.จ.ร.’ เผยงานวิจัยฯเน้นหลักพุทธช่วย ‘เณร’ รู้เท่าทันสื่อออนไลน์

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน มหาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (ม.จ.ร.) เปิดเผยว่า น.ส.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ และ น.ส.พุทธชาติ แผนสมบุญ และคณะอาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา มมร ได้วิจัยเรื่อง “Smart Novices สามเณรยุคศตวรรษ 21 ทำโครงงานนวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน” เนื่องจากปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยยุคใหม่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลสมัยใหม่ การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต วิธีคิด ค่านิยม รูปแบบการดำเนินชีวิต ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสยุคบริโภคนิยมอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เยาวชนวัยรุ่นมีพฤติกรรมการใช้เครือข่ายเพื่อความบันเทิงมากกว่าแสวงหาความรู้ การใช้สื่อไม่เหมาะสมหลายรูปแบบ เช่น การเปิดและรับสื่ออนาจาร การสื่อสารคำพูดรุนแรง การแบ่งปันภาพไม่เหมาะสม การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดอาชญากรรม การล่อหลวงต่างๆ สะท้อนให้เห็นการใช้เทคโนโลยีที่ขาดการพิจารณารู้เท่าทันสื่อ อย่างไรก็ตาม การจัดประสบการณ์การเรียนรู้การใช้สื่อที่เหมาะสมผ่านแนวคิดการทางหลักพุทธธรรม ด้วยวิธีการฝึกให้เยาวชนรู้จักคิดตามหลักโยนิสมนสิการ ฝึกให้แยกแยะคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม มองเห็นคุณและโทษของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผ่านการเรียนรู้การทำโครงงาน เป็นการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อสร้างเยาวชนในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างมีคุณภาพได้

‘ม.จ.ร.’ เผยงานวิจัยฯเน้นหลักพุทธช่วย ‘เณร’ รู้เท่าทันสื่อออนไลน์

จากปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยศึกษาเยาวชนกลุ่มสามเณรที่ศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ โดยเลือกศึกษาสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้วิจัยเรื่องค่านิยมและพฤติกรรมต้นแบบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยาของสามเณร เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงค่านิยม และพฤติกรรมต้นแบบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยา มีการดำเนินการวิจัย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สำรวจสภาพปัญหา และพฤติกรรมใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสามเณร 15 โรง ระยะที่ 2 การฝึกอบรมการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยา และระยะที่ 3 การทำโครงงาน ในวัด หรือโรงเรียนเป็นเวลา 4 เดือน

ผลวิจัยพบว่า 1.รูปแบบฝึกอบรมที่เหมาะสมที่สุดในพัฒนาพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามแนวพุทธจิตวิทยา คือการฝึกให้สามเณรลงมือปฏิบัติทำโครงงาน Project based learning เป็นเวลา 4 เดือน ผ่านกิจกรรม และหัวข้อที่แต่ละกลุ่มสนใจ เผยแพร่ผลงานผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นการฝึกฝนให้สามเณรได้สำรวจปัญหา และพฤติกรรมของตัวเอง และชุมชน ฝึกคิดโครงงานสร้างสรรค์เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ผ่านโครงงาน และลดเวลาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผลวิเคราะห์เชิงปริมาณพบว่า สามเณรเปลี่ยนแปลงค่านิยม และพฤติกรรมต่อการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม 4 ด้านสูงกว่าก่อนได้เข้าโครงการอบรม ได้แก่ มีเหตุผลในการคิด มีการควบคุมตนเอง มีค่านิยมพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ตามหลักพุทธจิตวิทยาเพิ่มสูงขึ้น

2.จากผลสำเร็จของโครงงานจากการทำกิจกรรมโครงงาน สามเณรผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้การสรุปความคิดรวบยอด และนำเสนอให้ผู้อื่นได้รับรู้ และเข้าใจได้ โดยในการนำเสนอผลงานโครงการ Smart Novices ทำได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงนิทรรศการ เวปเพจ Smart Novices 5 โครงงาน ได้แก่ โครงงานไม่เหลียวไม่แลไม่แคร์บุหรี่ โครงงานธนาคารขยะรีไซเคิล โครงงานการใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ถูกเวลา โครงงานการปรับภูมิทัศน์ในบริเวณโรงเรียนวัดพระธาตุแช่แห้ง และโครงงานพุทธศิลป์

‘ม.จ.ร.’ เผยงานวิจัยฯเน้นหลักพุทธช่วย ‘เณร’ รู้เท่าทันสื่อออนไลน์

3.ผลวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า สามเณรเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม 4 ด้าน คือ 1.)ด้านกาย มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ทำให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใสเบิกบาน ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์มากขั้น 

2.)ด้านศีล มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนดีขึ้น มีความสามัคคี รู้จักการสื่อสาร เพื่อชักจูง และชักนำในการพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกิดความรู้สึกรัก และผูกพันกับสถานศึกษา เกิดสัมพันธภาพที่ดี ทำให้มีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน

 3.)ด้านจิตใจ สามเณรสามารถควบคุมตนเองได้ มีสมาธิในการเรียนดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น จิตใจแจ่มใสเบิกบาน มีความกล้าในแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองมากยิ่งขึ้น และ 

4.)ด้านปัญญา จากการฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมโครงงานทำให้ได้ประสบการณ์ตรงรู้จักประโยชน์ที่แท้จริงของสื่อสังคมออนไลน์ และนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ในสถานศึกษา ภายใต้โครงงาน “การใช้โทรศัพท์ให้ถูกที่ถูกเวลา”

ดังนั้น การพัฒนาค่านิยม และพฤติกรรมต้นแบบการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เหมาะสม จะต้องออกแบบกิจกรรมผ่านการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัย และความเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคม ผ่านกระบวนการฝึกฝนให้เยาวชนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ก่อให้เกิดกระบวนเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด รู้จักการควบคุมตนเอง และนำหลักธรรมมาปรับใช้กับกิจกรรมให้เกิดการตระหนักรู้เท่าทันสื่อ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีดังนี้ 1.กัลยาณมิตร ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู และเพื่อนสามเณรในโรงเรียน 2.การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด โดยใช้หลักโยนิโสมนสิการ เพื่อรู้จักใช้สื่อในทางสร้างสรรค์ และ 3.การทำโครงงาน นำไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์


ขอบคุณ, https://www.matichon.co.th/news/580707

แชร์