"คำพิพากษา" ของศาลฎีกาเกี่ยวกับที่ดินวัด

คำพิพากษาศาลฎีกา ..กรณีการที่วัดได้กรรมสิทธิ์ ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยและมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดไว้มีดังนี้ ไปดูพร้อม ๆ กันเลย http://winne.ws/n2691

5.2 พัน ผู้เข้าชม
"คำพิพากษา" ของศาลฎีกาเกี่ยวกับที่ดินวัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2474 พิธีอุทิศที่ดินโฉนดเก่าให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ จะต้องทำอย่างไรบ้าง เมื่อพระภิกษุครอบครองเป็นวัดมาตั้ง 10 ปี แล้ว แม้การให้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ดีก็ใช้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 202/2490 ยกที่ดินถวายวัดและได้เช่าและส่งค่าเช่าให้วัดมากกว่า 10 ปี วัดย่อมได้กรรมสิทธิ์เป็นที่ธรณีสงฆ์

คำพิพากษาฎีกาที่ 47-50/2490 ที่ธรณีสงฆ์นั้นไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียน การฟ้องขับไล่ออกจากที่ธรณีสงฆ์นั้น โจทก์พิสูจน์ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ก็เพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องนำสืบถึงการได้มา

คำพิพากษาฎีกาที่ 662/2497 ที่ธรณีสงฆ์นั้น ใครจะครอบครองมาช้านานเท่าใด ก็แย่งกรรมสิทธิ์ไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 944-945/2497 เจ้าอาวาสมีอำนาจมอบฉันทะให้ไวยาวัจกร ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ธรณีสงฆ์ของวัดได้ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2484 มาตรา 43

วัดเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72 มีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 70 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มาตรา 40 วัดก็ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ และวัดอาจได้ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ มาตรา 1382 (อ้างฎีการท่ี 1253/2481)

วัดขับไล่จำเลยออกจากที่ธรณีสงฆ์ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่พิพาท เป็นที่รกร้างว่างเปล่า นั้นถวายวัดเพื่อทำเป็นป่าช้า แล้วนายอำเภอและชาวบ้านได้เอาที่นั้น ปลูกที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน ตลาด ดังนี้ คดีไม่มีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงว่า นายอำเภอที่เอาป่าช้าไปสร้างที่ว่าการอำเภอนั้น จะเป็นการชอบหรือไม่ชอบ และการที่นายอำเภอเอาที่พิพาทไปถวายวัดนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนที่ชอบหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 2003-2005/2500 พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสมีอำนาจหน้าที่จัดการดูแลศาสนสมบัติของวัดเรียกเอาสินบนในการให้เช่าที่ดินของวัด มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน

คำพิพากษาฎีกาที่ 571-572/2508 การที่เจ้าของที่ดินได้สละการครอบครองที่ดินมีโฉนดโดยยกให้แก่วัดและวัดได้เข้าครอบครองที่นั้น เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว เช่นนี้ วัดได้กรรมสิทธ์ แม้ขณะยกให้แก่วัด จะไม่มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม  

คำพิพากษาฎีกาที่ 2954/2524 วัดโจทก์ถึงแม้จะยกฐานะจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ใน พ.ศ.2518 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม แต่ พ.ร.บ. ปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มิได้บัญญัติถึงวัดร้าง ดังนั้นวัดร้างจึงมิได้เสียสภาพจากการเป็นวัด เพราะยังมิได้มีการยุบเลิกวัดร้าง และยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินของวัดได้อยู่ โดยให้พนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเป็นผู้ปกครองรักษาไว้แทนตามพ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ม.8 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะพบองค์พระพุทธรูป เมื่อปรากฏว่าต่อมาโจทก์ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลและสืบทอดกรรมสิทธิ์ต่าง ๆ ของวัดร้างนั้นมา จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์องค์พระพุทธรูปสืบทอดจากวัดร้าง กับมีสิทธิติดตามเอาคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือเอาไว้ตาม ป.พ.พ. ม.1336

คำพิพากษาฎีกาที่ 4027-4030/2524 วัดร้างสงฆ์ไม่อาศัย กรมการศาสนาย่อมมีอำนาจดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินของวัดนั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 2184/2525 เจ้าอาวาสมีอำนาจฟ้องคดีแทนวัด หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องคดีแทนได้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตน จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และจำเลยได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ แม้ที่ดินจะราคาไม่เกิน 20,000 บาท และโจทก์เรียกค่าเสียหายไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน คู่ความก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้

        เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของวัด แม้บางแปลงจะได้มีการออกโฉนดเป็นชื่อจำเลย จำเลยก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไม่ เพราะที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดย พ.ร.บ. และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้วัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นของวัดไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6371/2531 การออกโฉนดทับที่ธรณีสงฆ์ของวัด โจทก์เป็นการออกโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการโอนทางทะเบียนต่อกันมาจนถึงจำเลยผู้มีชื่อรายสุดท้าย จำเลยผู้รับโอนหาได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่่ตนรับโอนไม่ และเมื่อโฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์จะขอให้ลงชื่อโจทก์แทนชื่อจำเลยในโฉนดดังกล่าวหาได้ไม่และแม้โจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนโฉนดดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียได้

กฎหมายทางโลกและทางธรรม

แชร์