บาลีศึกษา : ทางเลือก ทางรอด

"พัดยศของบาลีศึกษา มีมานาน แต่ผู้รับไม่ได้ใช้.. ถ้าจะเพิ่มเป็นเข็มสำหรับติดเสื้อ เป็นรูปพัดและเลขประโยคกำกับไว้ ก็จะเป็นเกียรติสำหรับผู้สอบ และเผยแพร่การศึกษาบาลี ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง." http://winne.ws/n10565

2.4 พัน ผู้เข้าชม
บาลีศึกษา : ทางเลือก ทางรอด

"ผู้เรียนบาลีศึกษา เป็นการเรียนด้วยความสนใจ สมัครใจ เป็นส่วนใหญ่.."

"พัดยศของบาลีศึกษา มีมานาน แต่ผู้รับไม่ได้ใช้.. ถ้าจะเพิ่มเป็นเข็มสำหรับติดเสื้อ เป็นรูปพัดและเลขประโยคกำกับไว้ ก็จะเป็นเกียรติสำหรับผู้สอบ และเผยแพร่การศึกษาบาลี ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง."
                                        --------------------------------------------------
บาลีศึกษา
: การศึกษาทางเลือกที่จะรอดของการเรียนบาลี (ทางหนึ่ง)

ปณิธานส่วนตัว
๑. เสนอแนวคิดเพื่อพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาทุกด้าน
๒. เผยแผ่ความรู้และหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาทุกเรื่องที่ทราบ /ค้นคว้ามาได้
ข้อตกลงเบื้องต้น : ๑. ไม่เกี่ยวข้องการเมือง ๒. ไม่รู้จะไม่เขียน ๓. ไม่เขียนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง 

บาลีศึกษา หรือ บาฬีศึกษา เป็นคำที่ใช้เรียกระบบการเรียนบาลี ที่มีผู้เรียนเป็น “คฤหัสถ์” ทั้งชายและหญิง ใช้ชื่อย่อว่า “บ.ศ.”

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๕๗ มี หลักสูตร วิธีแบ่งชั้นเรียน การเรียนการสอน เป็นอย่างเดียวกับการเรียนบาลี ของพระภิกษุสามเณร ต่างกันที่ จัดการเรียนการสอน และการสอบ โดย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)

ผู้สำเร็จวุฒิ บ.ศ. ๙ ได้รับปริญญาเป็นปริญญาตรี พร้อมพัดสีขาว เมื่อไปเรียนต่อระดับปริญญาโท หรือทำงาน จะต้องให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยรับรองวุฒิ

ปัจจุบัน มีหลักสูตร วิธีแบ่งชั้นเรียน การเรียนการสอน เป็นอย่างเดียวกับการเรียนบาลี ของพระภิกษุสามเณร เหมือนเดิม แต่มีการจัดการเรียนการสอน โดยหน่วยงานของคณะสงฆ์ ๒ หน่วย คือ

๑. สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง เริ่มมีการสอบตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยรับผู้สำเร็จชั้นนั้นๆ จาก มมร. หรือคฤหัสถ์ที่เคยบวชมา และจบชั้นประโยคบาลีชั้นใดชั้นหนึ่ง มาสอบต่อยอดในนาม “บาลีสนามหลวง” ได้เลย

๒. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (ตามเดิม)
(ทราบข้อมูลจาก คุณสุกัญญา เจริญวีรกุล ว่า มมร. จัดสอบ ปี ๒๕๕๘ เป็นปีสุดท้าย จึงเป็นอันว่า สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงรับผิดชอบหน่วยเดียว แต่ขอคงไว้เพื่อเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์)

สรุปว่า มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ที่จัดสำหรับคฤหัสถ์โดยเฉพาะ เป็นอีกสายหนึ่ง ควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร เรียกตามชื่อ คือ ธรรมศึกษา (นักธรรมของพระฯ) และ บาลีศึกษา (บาลีของพระฯ) แบ่งชั้นเหมือนกัน แต่เรียกต่างกัน คือ

นักธรรมตรี (พระฯ) – ธรรมศึกษาตรี (คฤหัสถ์) * (ชื่อหน้าเป็นการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ชื่อหลังเป็นชื่อการศึกษาของคฤหัสถ์)
นักธรรมโท– ธรรมศึกษาโท
นักธรรมเอก – ธรรมศึกษาเอก
(เนื้อหาระดับนักธรรม ธรรมศึกษา จะต่างกัน /ระดับบาลี จะใช้หลักสูตรเหมือนกัน)

ประโยค ๑ - ๒ - บาลีศึกษา ๑ - ๒ (บ.ศ. ๑ - ๒) (ประโยค ๑ -๒ ไม่ใช้ ป.ธ. ๑ - ๒ เพราะ ป.ธ. หมายถึง เปรียญธรรม ๓ ประโยค ขึ้นไป)
ป.ธ. ๓ - บ.ศ. ๓
ฯลฯ
ป.ธ. ๙ - บ.ศ. ๙

ที่เรียกว่า คฤหัสถ์ เพราะเป็นศัพท์ที่มหาเถรสมาคมใช้มา ตั้งแต่สมัยกรมการศาสนาเป็นผู้สนองงาน ไม่ใช้คำว่า ฆราวาส (จะอธิบายที่มาต่อไป)

บาลีศึกษา : ทางเลือก ทางรอด

ทราบข่าวดี สำหรับการศึกษาพระปริยัติธรรมทุกแผนกว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. (พ.ศ. จะใช้ ๔ จุดเท่ากับตัวเลข ไม่ใช้เกินหรือน้อยกว่า ๔ จุด) เรียบร้อยแล้ว บางส่วนก็บอกว่า ต่อไปก็เสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเลย บางส่วนก็ว่า จะต้องเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา (คกก.) พิจารณาก่อน

จึงเรียนว่า ในยามปกติ เมื่อ ครม. เห็นชอบในหลักการแล้ว จะส่ง คกก. พิจารณา ร่างกฎหมายนั้น ให้เป็นกฎหมายตามรูปแบบสำหรับประเทศไทยก่อน แล้วจึงเสนอไปยังหน่วยงานนิติบัญญัติ (ปัจจุบันคือ สนช.) พิจารณา

ในช่วงที่เสนอ ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. มาที่ คกก. นี้ โดยส่วนตัว เห็นว่า ควรเพิ่มสาย “บาลีศึกษา” ไว้ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. …. ด้วย เพื่อให้กฎหมายครอบคลุม ทุกระบบการศึกษาพระปริยัติธรรม ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง

เหตุผล/ข้อพิจารณา
๑. ระบบบาลีของพระ ไม่สามารถครอบคลุม บาลีศึกษา ได้ เพราะพื้นฐานระดับนักธรรม กับ ธรรมศึกษา ต่างกัน
๒. หากปรับระบบธรรมศึกษาให้เรียนเท่านักธรรม บางเรื่องในหลักสูตร ไม่จำเป็นสำหรับผู้เรียนธรรมศึกษา ก็ไม่จำเป็นต้องเรียน เรียนไปก็เปล่าประโยชน์ ควรเรียนเฉพาะเท่าที่จำเป็น
๓. ระบบการศึกษาบาลีของพระ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่บาลีศึกษายังอยู่ในการกำกับของ แม่กองบาลีสนามหลวง สถานะจึงต่างกัน
๔. ดังนั้น จึงควรแยก บาลีของพระ กับ บาลีศึกษา เป็นคนละสาย ให้ชัดเจน ไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เพราะจะเกิดความสับสน ในสถานะ เช่น เด็กนักเรียนสอบ บ.ศ. ๕ ได้แล้ว เมื่อบวชพระ จะเรียกว่าอะไร เป็นต้น
๕. หากจะอ้างว่า จะเขียนไว้ใน กฎกระทรวง ก็จะพบว่า เมื่อกฎหมายใหญ่ (พรบ.) ไม่ระบุไว้ จะมาเขียนงอกในกฎหมายเล็ก (กฎกระทรวง) ไม่ได้ เพราะเป็นการเขียนกฎหมายลูกเกินกฎหมายแม่
๖. เมื่อรับบาลีศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของ สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ก็ควรระบุสายให้ชัดเจน ในกฎหมายแม่ (พรบ.) เพื่อความสะดวกใน การเรียนระดับที่สูงขึ้นไป และการเขียนกฎกระทรวง 
๗. กฎกระทรวงเรื่องบาลีศึกษา หากเขียนไม่ทัน สามารถเขียนแยกเป็นฉบับต่างหากภายหลังได้ 

สิ่งที่ควรตระหนัก คือ
๑. ผู้เรียนบาลีศึกษา เป็นการเรียนด้วยความสนใจ สมัครใจ เป็นส่วนใหญ่ บางท่านเรียน เพื่อศึกษาหาความรู้ เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ฯลฯ มากกว่าที่จะเรียน เพื่อได้รับผล เช่น คุณสุกัญญา เจริญวีรกุล นิสิตปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบได้ บ.ศ. ๗ ปีนี้ (๒๕๕๙) พร้อมกับจบปริญญาตรี ซึ่งแสดงว่า เขาเรียนมาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เขาไม่จำเป็นต้องเรียนบาลีก็ได้ แต่ที่เรียน เพราะสนใจที่จะเรียนมากกว่าหวังผลอย่างอื่น เป็นต้น
๒. บาลีศึกษาเป็นหนทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้การศึกษาภาษาบาลีขยายตัวมากขึ้น เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ระบบการศึกษาต่อระดับปริญญาโท – เอก ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ และมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็สามารถใช้บาลีศึกษาเป็นฐานในการเปิดเรียนวิชาเอกบาลี ในระดับปริญญาโท – เอก ได้ (ในข้อนี้ จะเป็นระบบเกื้อหนุนกันระหว่างสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ คือ สำนักงานแม่กองบาลี กับ มหาวิทยาลัยสงฆ์)

หมายเหตุ : พัดยศของบาลีศึกษา มีมานาน แต่ผู้รับไม่ได้ใช้.. ถ้าจะเพิ่มเป็นเข็มสำหรับติดเสื้อ เป็นรูปพัดและเลขประโยคกำกับไว้ ก็จะเป็นเกียรติสำหรับผู้สอบ และเผยแพร่การศึกษาบาลี ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง..

ไม่บังอาจที่จะเสนอความคิดนี้ไปยัง หน่วยงานต่างๆ เพราะวุฒิและภาวะที่เป็นอยู่ ก็จะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว เขียนไว้เผื่อมีผู้สนใจ ไม่จำเป็นต้องอ้างผม เพราะสิ่งเหล่านี้ มันเป็นอยู่ตามปกติ ทุกคนสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้

เรียบเรียงโดย พิศาฬเมธ  แช่มโสภา ป.ธ.๙

ที่มา : เฟสบุ๊ค พิศาฬเมธ แช่มโสภา

แชร์