ประวัติวันมาฆบูชา วันสำคัญของพุทธศาสนา วันจาตุรงคสันนิบาต วันกตัญญูแห่งชาติ

วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา http://winne.ws/n12129

4.8 พัน ผู้เข้าชม
ประวัติวันมาฆบูชา วันสำคัญของพุทธศาสนา วันจาตุรงคสันนิบาต วันกตัญญูแห่งชาติแหล่งภาพจาก วัดพระธรรมกาย

วันมาฆบูชา (บาลีมาฆปูชาอักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธและวันหยุดราชการในประเทศไทย "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)

        วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

สรุปความสำคัญวันมาฆบูชาและประวัติวันมาฆบูชา

          ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"

          ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่

          1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

          2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6

          4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

          และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ

          จาตุร แปลว่า 4

          องค์ แปลว่า ส่วน

          สันนิบาต แปลว่า ประชุม

          ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง

          ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์

ประวัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย

          พิธีทำบุญวันมาฆบูชานี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาในสมัยใด อย่างไรก็ตามในหนังสือ "พระราชพิธีสิบสองเดือน" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า 

          ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐ์จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วยจีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึงและขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ

          ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง

          ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา

          นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา เป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย

ประวัติวันมาฆบูชา วันสำคัญของพุทธศาสนา วันจาตุรงคสันนิบาต วันกตัญญูแห่งชาติ

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติในวันมาฆบูชา

          หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติคือ "โอวาทปาฏิโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้

หลักการ 3 คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่

          1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

          2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)

          3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

          ซึ่งทั้ง 3 หลักการข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" นั่นเอง

อุดมการณ์ 4 ได้แก่

          1. ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ

          2. ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น

          3. ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

          4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

วิธีการ 6 ได้แก่

          1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร

          2. ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

          3. สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม

          4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ

          5. อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

          6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี

ประวัติวันมาฆบูชา วันสำคัญของพุทธศาสนา วันจาตุรงคสันนิบาต วันกตัญญูแห่งชาติ

อานิสงส์การร่วมบุญงานวันมาฆบูชา ด้วยการจุดโคมประทีปบูชาพระพุทธเจ้า

ทีปโท โหติ จกฺขุโท  ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่า ให้จักษุ

        ย่อมมีอานิสงส์ทำให้เป็นผู้มีดวงตาสดใส ทั้งมังสจักษุ ทิพยจักษุ และธรรมจักษุ  มีรัศมีกายสว่างไสว เป็นผู้รู้คุณของพระรัตนตรัย ทำให้มีศรัทธามั่นคง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แตกฉานในสรรพวิชาทั้งทางโลกและทางธรรม ย่อมได้ดวงตาเห็นธรรม  บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

อานิสงส์การถวายโคมมาฆประทีป (อานิสงส์โดยย่อ)

     1. ย่อมเป็นผู้รู้คุณของพระรัตนตรัย ทำให้มีศรัทธามั่นคง

     2. เป็นผู้มีความเคารพ มีสัมมาคารวะ

     3. เป็นผู้มีดวงตาสดใส สวยงาม มองได้ไกล ดวงตาบริสุทธิ์บริบูรณ์

     4. ทำให้เป็นผู้มีทิพยจักษุ (ตาทิพย์)

     5. มีผิวพรรณผ่องใส มีจิตใจสดชื่นเบิกบาน

     6. มีรัศมีกายสว่างไสว มีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาทในชีวิต

     7. ทำให้มีปัญญาเฉลียวฉลาด มีปฎิภาณว่องไว แตกฉานในสรรพวิชชาทั้งทางโลกและทางธรรม

     8. ย่อมไม่ไปเกิดในทุคติ

     9. ย่อมได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย

ประวัติวันมาฆบูชา วันสำคัญของพุทธศาสนา วันจาตุรงคสันนิบาต วันกตัญญูแห่งชาติ

วันมาฆบูชาในปฏิทินสุริยคติ

ปี    วันที่    วันที่     วันที่
ปีชวด3 มีนาคม พ.ศ. 2539        21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 255        18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ปีฉลู21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540   9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552         25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ปีขาล11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541   28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553        15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ปีเถาะ1 มีนาคม พ.ศ. 2542       18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554            5 มีนาคม พ.ศ. 2566
ปีมะโรง19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543      7 มีนาคม พ.ศ. 2555         23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
ปีมะเส็ง8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544       25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556      12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ปีมะเมีย26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545       14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557        3 มีนาคม พ.ศ. 2569
ปีมะแม16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546        4 มีนาคม พ.ศ. 2558         21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2570
ปีวอก5 มีนาคม พ.ศ. 2547        22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559        10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2571
ปีระกา23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548       11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560       27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2572
ปีจอ13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549     1 มีนาคม พ.ศ. 2561         17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2573
ปีกุน3 มีนาคม พ.ศ. 2550       19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562         7 มีนาคม พ.ศ. 2574

อ้างอิงจาก วิกิพีเดียสารานุกรม , Kapook.com

แชร์