พระพุทธเจ้าทรงตอบคำถามพระอินทร์ สิ่งที่ผูกมัด เทพ มนุษย์ นาค ยักษ์ คนธรรพ์คือ..
พระอินทร์ทรงถาม เทวา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และหมู่สัตว์เป็นอันมากอื่น ๆ ถูกอะไรผูกมัด แม้ตั้งใจจะไม่จองเวร ไม่ใช้อาชญา ไม่มีศัตรู ไม่เบียดเบียน อยู่อย่างไม่มีเวร แต่ก็ต้องจองเวร ใช้อาชญา มีศัตรู เบียดเบียน และอยู่อย่างมีเวร? http://winne.ws/n12847
ครั้นได้โอกาส ท้าวสักกะพร้อมบริวารก็เข้าไปเฝ้า เมื่อได้ตรัสสันโมทียกถาพอสมควรแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงเปิดโอกาสให้ท้าวสักกะกราบทูลปัญหาได้
พระอินทร์ทรงถาม เทวา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ และหมู่สัตว์เป็นอันมากอื่น ๆ ถูกอะไรผูกมัด แม้ตั้งใจจะไม่จองเวร ไม่ใช้อาชญา ไม่มีศัตรู ไม่เบียดเบียน อยู่อย่างไม่มีเวร แต่ก็ต้องจองเวร ใช้อาชญา มีศัตรู เบียดเบียน และอยู่อย่างมีเวร?
พระพุทธองค์ทรงตอบ มีความริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องผูกมัด
ถาม มีความริษยา และความตระหนี่เกิดจากอะไร?
ตอบ เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก และสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก และไม่เป็นที่รัก ก็ไม่มีความริษยาและความตระหนี่
ถาม สิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเกิดจากอะไร?
ตอบ เกิดจากความพอใจ เมื่อไม่มีความพอใจก็ไม่มีสิ่งที่เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
ถาม ความพอใจเกิดจากอะไร?
ตอบ เกิดจากความตรึก (วิตก) เมื่อไม่มีความตรึกก็ไม่มีความพอใจ
ถาม ความตรึกเกิดจากอะไร?
ตอบ เกิดจากปปัญจสัญญาสังขานิทาน คือส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลส (ตัณหา ความทะยานอยาก, มานะ ความถือตัว, ทิฐิ ความเห็น) เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ถาม ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าปฏิบัติข้อปฏิบัติที่สมควร ทำให้ถึงความดับ ส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า?
ตอบ โสมนัส (ความดีใจ) โทมนัส (ความเสียใจ) อุเบกขา (ความวางเฉย) มีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งควรซ่องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรซ่องเสพ คือเมื่อซ่องเสพโสมนัส เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งกุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นไม่ควรซ่องเสพ...ถ้าอกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นควรซ่องเสพ ธรรมที่ควรซ่องเสพนั้นคือที่มีวิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ที่ไม่มีวิตกวิจาร ที่ไม่วิตกวิจารแต่ประณีตขึ้นไปกว่า (หมายถึงความโสมนัสเป็นต้น อันเกิดจากเพราะเนกขัมมะบ้าง เพราะวิปัสสนาบ้าง เพราะอนุสติบ้าง เพราะปฐมฌาน เป็นต้นบ้าง) ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้ชื่อว่าปฏิบัติข้อปฏิบัติที่สมควรที่ให้ถึงความดับส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ถาม ภิกษุปฏิบัติอย่างไรจึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมปาติโมกข์ (ศีลที่เป็นใหญ่เป็นประธาน)
ตอบ ความประพฤติทางกาย (กายสมาจาร) ความประพฤติทางวาจา (วจีสมาจาร) และการแสวงหา (ปริเยสนา) อย่างหนึ่งควรซ่องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรซ่องเสพ คือเมื่อซ่องเสพความประพฤติทางกายเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นไม่ควรซ่องเสพ ถ้าอกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นควรซ่องเสพ ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมปาติโมกข์
ถาม ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ (คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
ตอบ อารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นมีสองอย่าง อย่างหนึ่งควรซ่องเสพ อีกอย่างไม่ควรซ่องเสพ (พอตรัสถึงเพียงนี้ ท้าวสักกะก็กราบทูลว่าเข้าใจความหมายที่ว่าไม่ควรซ่องเสพและความซ่องเสพนั้นกำหนดด้วย เมื่อซ่องเสพและอกุศลธรรมหรือกุศลธรรมจะเจริญกันแน่)
ถาม สมณพราหมณ์ทั้งปวง มีวาทะ มีศีล มีฉันทะ มีจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกันใช่หรือไม่?
ตอบ ไม่ใช่ เพราะโลกมีธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่าง ๆ กัน สัตว์ยึดถือธาตุอันใดก็กล่าวเพราะยึดถือธาตุอันนั้นว่า นี้แลจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ
ถาม สมณพราหมณ์ทั้งปวง มีความสำเร็จ มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องยึด (โยคักเขมี) เป็นพรหมจารี มีที่สุดส่วนล่วงใช่หรือไม่ (คำว่าส่วนล่วงหมายถึง ‘เด็ดขาด’ ไม่กลับกำเริบหรือแปรปรวนอีก)
ตอบ ไม่ใช่ จะมีความสำเร็จ เป็นต้น ส่วนล่วงก็เฉพาะผู้ที่พ้นแล้วจากตัณหา (ความทะยานอยาก) เท่านั้น
ท้าวสักกะจึงกราบทูลว่า ตัณหาอันทำให้หวั่นไหวเป็นโรค เป็นหัวปี เป็นลูกศรย่อมฉุดคร่าบุรุษเพื่อให้เกิดในภพนั้น ๆ ถึงความสูงบ้าง ต่ำบ้าง ครั้นแล้วได้แสดงความพอใจที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาแก้ความสงสัยได้ เท่าที่เคยไปถามพราหมณ์เหล่าอื่นแทนที่จะได้คำตอบ กลับย้อมถามว่าเป็นใคร ครั้นรู้ว่าเป็นท้าวสักกะ ก็กลับมาถามปัญหายิ่ง ๆ ขึ้นอีกว่า ‘ทำกรรมอะไรไว้จึงเกิดเป็นท้าวสักกะ’ ก็ตอบไปตามที่ได้ฟัง ได้เล่าเรียน สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็อิ่มเอิบใจว่าได้เห็นท้าวสักกะ ได้ถามปัญหา และท้าวสักกะได้ตอบแก่เรา ท้ายสุดกลายเป็นสาวกของข้าพระองค์ไป...
ครั้นแล้วท้าวสักกะได้กล่าวสุภาษิตอีกหลายประการ ในที่สุดได้เอามือลูบแผ่นดินแล้วเปล่งอุทานว่า...
“นโมตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” รวมสามครั้ง
ที่นำเอาพระสูตรนี้มากล่าวไว้ ก็เพราะอยากให้ท่านทั้งหลายที่มีความใคร่รู้เรื่องความยิ่งใหญ่ของเทวดาและพระพุทธเจ้า โดยชี้ให้เห็นว่าในพระพุทธศาสนา เทวดาเหล่านั้นยังต่ำกว่าพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาตรัสรู้
พระบรมศาสดา เป็นพุทธะ!
เป็นผู้ตรัสรู้หมดกิเลส มีความบริสุทธิ์สะอาดกว่าเทวดาทั้งปวง เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า...
ขอบคุณภาพและที่มาจาก
สักกสูตร...พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 133
เพจพระสุริยา นาควีโร