"อุโบสถ,โบสถ์"เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า..สถานที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้พระสงฆ์เป็นการเฉพาะ
โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา อุโบสถ มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีคือ "อุปะ" แปลว่า การเข้าถึง สนธิกับ "โอสถ" ซึ่งแปลว่า ยาแก้โรค http://winne.ws/n21510
อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) คืออะไร
ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำ สังฆกรรมซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของ พระภิกษุสงฆ์จะ ใช้เพียงพื้นที่โล่ง ๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง “สีมา” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายใน พระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญ ๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้าง ขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมี การประดับตกแต่งอย่างสวยงาม และยังมีอีกมีหลายความหมาย คือ หมายถึง
- สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า โบสถ์
- การเข้าจำ คือการรักษาศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า รักษาอุโบสถ และรักษาอุโบสถศีล
- วันพระหรือวันฟังธรรมของคฤหัส วันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษาอุโบสถกัน เรียกว่า วันอุโบสถ
- วันที่พระสงค์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่าวันอุโบสถ
- การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนหรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์ เรียกว่า การทำอุโบสถ
- โบสถ์ เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา
- โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือ โรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม
- โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา
- ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่า ผูกสีมา หรือ ผูกพัทธสีมาก่อน อนึ่ง คำว่าอุโบสถ มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีคือ "อุปะ" แปลว่า การเข้าถึง สนธิกับ "โอสถ" ซึ่งแปลว่า ยาแก้โรค ดังนั้น จึงมีความหมายถึง การเข้าถึงยาแก้โรค อันแสดงให้เห็นว่าการมาอุโบสถก็คือการได้เข้าถึงธรรมะอันเป็นยาแก้โรคกิเลสนั่นเอง
พัทธสีมา หมายถึงสีมา หรือเขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว คือพระสงฆ์ร่วมกันกำหนดให้เป็นเขตทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกพิธีกรรมที่กำหนดอย่างนั้นว่า ผูกสีมา โดยทั่วไปเรียกพัทธสีมาว่า โบสถ์ หรืออุโบสถ
นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ “วิสุงคามสีมา” (วิ-สุง-คาม-มะ-สี-มา) แปลว่า เขตแดนส่วนหนึ่งจากแดนบ้าน คือ ที่ดินที่แยกต่างหากจากที่ดินของบ้านเมือง ซึ่งเป็นเขตที่พระจ้าแผ่นดินพระราชทาน แก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะ โดยเป็นประกาศพระบรมราชโอการ
ที่ดินที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า “นิมิต” ภายในวิสุงคามสีมา นิยมสร้างโรงอุโบสถไว้เพื่อทำสังฆกรรม
การที่จะเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระธรรมวินัยนั้น จะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้น เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่า “ถอนสีม” หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้พื้นที่นั้นเป็น สีมา เรียกว่า “ผูกสีมา” ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมา หรือเป็นอุโบสถถูกต้องพระธรรมวินัย
อ้างอิง: พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/อุโบสถ