อำนาจทางโลกของรัฐในศาสนา

ในอดีต พระและวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นสถานศึกษา แต่นอกจากศรัทธา ความเชื่อ ศาสนายังเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐที่ต้องมีการควบคุม อย่างนั้นหรือ http://winne.ws/n28248

2.0 พัน ผู้เข้าชม
อำนาจทางโลกของรัฐในศาสนา

       จริงอยู่ที่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ระบุให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่บทบัญญัติในหมวด 6 กล่าวถึงนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67 ก็ได้ระบุถึงการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาที่ว่า 

        “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น (วรรค 2) ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการ หรือกลไกดังกล่าวด้วย” 

        ในอดีต พระและวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นสถานศึกษา แต่นอกจากศรัทธา ความเชื่อ ศาสนายังเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐที่ต้องมีการควบคุม ออกแบบโครงสร้างการปกครองจากบนลงล่าง มีศูนย์กลางอำนาจการตัดสินใจ และมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน

อำนาจทางโลกของรัฐในศาสนา

       พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 บัญญัติในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีรายละเอียดว่าด้วยการปกครองของสงฆ์เป็นหลัก โดยกำหนดให้ ‘มหาเถรสมาคม’ เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด 

อำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมตามที่ปรากฏใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ คือ 

1. ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม 

2. ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร 

3. ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแพร่ การสาธารณูปการ 

4. รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา 

5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรา ‘กฎมหาเถรสมาคม’ ออกบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศเพื่อใช้บังคับในคณะสงฆ์

        และไล่เรียงจากบนลงล่าง การปกครองของพุทธศาสนาในไทยมีโครงสร้างคือ มหาเถรสมาคมปกครองดูแลคณะสงฆ์ในภาพรวม, เจ้าคณะใหญ่ ปกครองดูแลหลายภาค, เจ้าคณะภาค ปกครองดูแลหลายจังหวัด, เจ้าคณะจังหวัด ปกครองดูแลหลายอำเภอ, เจ้าคณะอำเภอ ปกครองดูแลหลายตำบล และเจ้าคณะตำบล ปกครองดูแลหลายวัด

       นอกจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ อำนาจของมหาเถรสมาคม ยังมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา และคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่นานมานี้เคยนิมนต์ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เข้าพูดคุยเรื่องเนื้อหาการไลฟ์สด ถึงความเหมาะสม และการสอดแทรกอารมณ์ขันในสัดส่วนที่อาจจะมากเกินไป  

      กรมการศาสนา คือหน่วยงานที่อยู่ใต้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม มีพันธกิจคือ สนองงานพระราชพิธี พระราชกุศล รัฐพิธี และศาสนพิธี, ปลูกฝังและเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต, ส่งเสริมและสานสัมพันธ์กิจกรรมทางศาสนา และ อุปถัมภ์ ทำนุบำรุง คุ้มครองกิจการด้านศาสนา โดยมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า “ศาสนาทุกศาสนาได้รับการอุปถัมภ์คุ้มครอง”

       สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่คล้ายกับกรมการศาสนา แต่เจาะจงไปที่ศาสนาพุทธ คือ ดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐ โดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา จัดการศาสนสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริม พัฒนาบุคลากรทางศาสนา

      ในส่วนของคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาพูดถึงเนื้อหาในการไลฟ์ของพระทั้งสองรูป มีระบุหน้าที่ไว้ในเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรว่า 

        “มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จเจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการอุปถัมภ์ ทำนุบำรุง และคุ้มครองศาสนาและโบราณสถาน การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมประชาธิปไตย ภูมิปัญญาชาวบ้าน เอกลักษณ์แบบวิถีชีวิตไทย และศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย”  

       อย่างไรก็ตาม ภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ส่วนมากคือการอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา ทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีความคุ้มครองพระสงฆ์อยู่ในภารกิจหลัก เช่นเดียวกับไม่มีพูดถึง ‘ประชาชน’ ซึ่งอยู่ในฐานะศาสนิกชน เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการศาสนาในนามของรัฐแต่อย่างใด

ขอบคุณบทความและอ่านเพิ่มที่ ไทยรัฐออนไลน์

แชร์