หลวงพ่อทูลให้ความรู้เรื่องอุปนิสัยของพระอริยเจ้า

การดูว่าใครเป็นพระอริยเจ้านั้น "หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ" บอกว่าเป็นเรื่องยากสำหรับปุถุชน แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ได้แนะแนวทางพอให้คนทั่วไปสามารถมองเห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมนสงสัย http://winne.ws/n6989

1.4 พัน ผู้เข้าชม
หลวงพ่อทูลให้ความรู้เรื่องอุปนิสัยของพระอริยเจ้าขอขอบคุณภาพจากwww.madchima.org

ในการดูว่าใครเป็นพระอริยเจ้านั้น "หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ" บอกว่าเป็นเรื่องยากสำหรับปุถุชน  แต่ถึงกระนั้น ท่านก็ได้แนะแนวทางพอให้คนทั่วไปสามารถมองเห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมนสงสัย โดยอธิบายว่า

การดูพระอริยเจ้านั้น ส่วนมากจะสุ่มเดาตาม "กิริยาที่แสดงออกมาทางกายและวาจา"  แต่การดูในลักษณะอย่างนี้ก็ยากที่จะถูกต้องได้ เพราะพระอริยเจ้ากับผู้ยังเป็นปุถุชนนั้นมีกิริยาการแสดงออกทางกายและวาจาเหมือนๆ กัน  ถึงแม้ท่านผู้นั้นจะได้บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังตัดอุปนิสัยเดิมของท่านเองไม่ได้  นิสัยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น

หลวงพ่อทูลให้ความรู้เรื่องอุปนิสัยของพระอริยเจ้าหลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

ตัวอย่างเช่น  พระสารีบุตรในชาติก่อนเคยเกิดเป็นลิง นิสัยของลิงก็ยังติดตัวมา ฉะนั้น พระสารีบุตรจึงชอบกระโดดโลดเต้นอยู่เป็นนิสัย เห็นกิ่งไม้ใดพอจะกระโดดจับโหนตัวเล่นก็ต้องทำ หรือเห็นน้ำบ่อพอจะกระโดดข้ามได้ก็ต้องกระโดดไปมา  พระภิกษุองค์อื่นๆ เห็นเข้าก็เกิดความแปลกใจว่า ทำไมพระสารีบุตรจึงแสดงกิริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมอย่างนี้ ไม่สมศักดิ์ศรีที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันตสาวกข้างขวาของพระพุทธเจ้าเลย จนเป็นที่โจษจันกัน

พระพุทธเจ้าทราบเรื่องจึงตรัสกับพระภิกษุเหล่านั้นว่า  อุปนิสัยเดิมของพระสาวกนั้นละไม่ได้  อุปนิสัยเคยเป็นมาในอดีตอย่างไร การแสดงออกทางกายและวาจาก็เป็นอย่างนั้น  และพระองค์ยังได้เปรียบเทียบอุปนิสัยของพระอริยเจ้ากับปุถุชนไว้ว่า 

(๑) น้ำลึก-เงาลึก 

(๒) น้ำลึก-เงาตื้น 

(๓) น้ำตื้น-เงาลึก 

(๔) น้ำตื้น-เงาตื้น 

ซึ่งทั้งสี่ข้อนี้เป็นวิธีตัดสินที่ยากมาก เพราะผู้ตัดสินไม่มีญาณหยั่งรู้พิเศษเฉพาะตัว นอกจากจะสุ่มเดาไปเท่านั้น

หลวงพ่อทูลให้ความรู้เรื่องอุปนิสัยของพระอริยเจ้าขอขอบคุณภาพจากwww.sookjai.com

ข้อ ๑ คำว่า "น้ำลึก-เงาลึก" หมายความว่า  ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ภายในใจแล้ว และก็ยังมีกิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจาที่สุขุมลุ่มลึกเป็นอุปนิสัยเดิมของท่านอยู่อีกด้วย  ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็พอจะเดาถูกบ้าง

ข้อ ๒ คำว่า "น้ำลึก-เงาตื้น" หมายความว่า  ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ภายในใจแล้ว แต่กิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจาไม่มีความสำรวมเลย อยากแสดงตัวอย่างไร อยากพูดอย่างไร ก็เป็นไปอย่างไม่สำรวมทั้งสิ้น  แต่ก็ไม่ผิดในพระธรรมวินัย เพราะเป็นเพียงกิริยาที่แสดงออกมาเท่านั้น  ถ้าหากไปพบเห็นผู้ที่มีอุปนิสัยอย่างนี้ก็จะเดาไปทันทีว่า ท่านผู้นี้ยังเป็นปุถุชน เพราะมีนิสัยไม่น่าเคารพเชื่อถือได้เลย

ข้อ ๓ คำว่า "น้ำตื้น-เงาลึก" หมายความว่า  ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจ แต่กิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจานั้นมีความสุขุมลุ่มลึกมาก การสำรวมทางกายและวาจาน่าเลื่อมใส ใครได้พบเห็นแล้วจะเกิดความเชื่อถือเป็นอย่างมาก  ถ้าได้พบเห็นผู้ที่มีอุปนิสัยอย่างนี้ก็จะเดาไปว่าเป็นพระอริยเจ้าทันที

ข้อ ๔ คำว่า "น้ำตื้น-เงาตื้น" หมายความว่า  ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจ และกิริยามารยาทการแสดงออกทางกายและวาจาก็ไม่มีความสำรวมแต่อย่างใด ทำไปพูดไปตามใจชอบ  ถ้าหากพบเห็นท่านผู้ใดมีกิริยาอาการอย่างนี้ก็พอจะเดาถูกอยู่บ้าง

 

หลวงพ่อทูลให้ความรู้เรื่องอุปนิสัยของพระอริยเจ้าขอขอบคุณภาพจากdhammaforlearner.blogspot.com

ถ้าดูนิสัย "น้ำลึก-เงาตื้น" หรือ "น้ำตื้น-เงาลึก" คิดว่าจะต้องเดาผิดอย่างแน่นอน  ฉะนั้น การสุ่มเดาว่าใครเป็นพระอริยเจ้าและใครเป็นปุถุชนนั้นจึงยากที่จะสุ่มเดาให้ถูกทั้งหมดได้

แม้แต่พระอริยเจ้าด้วยกันเองก็ยังไม่สามารถรู้กันทั้งหมดได้  เช่น  พระอริยเจ้าขั้นโสดาบันก็ไม่สามารถรู้ภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นสกทาคามี  พระอริยเจ้าขั้นสกทาคามีก็ไม่สามารถรู้ภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นอนาคามีได้  พระอริยเจ้าขั้นอนาคามีก็ไม่สามารถรู้ภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นอรหันต์ได้  หรือแม้พระอรหันต์องค์ที่ไม่มีญาณพิเศษส่วนตัวก็ไม่สามารถรู้ภูมิธรรมขององค์อื่นได้  แต่เมื่อได้สนทนาธรรมกันแล้วก็จะรู้ทันทีว่า ท่านผู้นั้นมีภูมิธรรมขั้นนั้นขั้นนี้

ในบางกรณี พระอรหันต์ก็ย่อมรู้กันได้ หรือรู้ภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นอื่นได้ด้วย เนื่องจากเป็นผู้มีความเกี่ยวข้องกันมาแต่ในอดีต เคยสร้างบารมีร่วมกันมา และเคยร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาหลายภพหลายชาติ

[ในยุคปัจจุบัน มักจะได้ยินเรื่องว่าองค์นั้นองค์นี้เป็นพระอรหันต์  หลวงพ่อทูลได้ให้ความรู้เรื่องนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธมาก จะได้เข้าใจหลักการสังเกตอย่างผู้มีปัญญา พระที่มีคุณธรรมคุณวิเศษอาจไม่สอดคล้องกับอุปนิสัยส่วนตัว เราไม่สามารถรู้ได้ ดังนั้น เห็นพระก็กราบไว้ก่อนเป็นดี ไม่ก้าวล่วง ด้วยกาย วาจา ใจ  ตัวอย่างสื่อบางค่ายในปัจจุบัน ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับพระภิกษุ เกรงว่าเยาวชนจะไม่เข้าใจและเอาอย่าง]

ที่มา : หนังสือ "ลีลาพระอรหันต์" โดย เธียรนันท์

แชร์